แหล่งข่าว กสทช. ชี้ ดีลเสนอซื้อขายลูกค้ามือถือ-บรอดแบนด์ ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่การรับโอนมาดูแลต่อเป็นไปได้ ขึ้นกับลูกค้า และการพิจารณาความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อของ NT
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ส่งหนังสือถึง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เรื่องการขอเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยต้องการจะขอ “รับดูแล” ลูกค้าในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือธุรกิจโมบายต่อจาก NT เและพิจารณาการเลิกสัญญาการให้บริการบนคลื่น 700 MHz (ของ NT) รวมถึงอุปกรณ์โครงข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวของ NT เมื่อการให้บริการสามารถดำเนินต่อบนโครงข่ายของ AIS
อีกส่วนคือ การเสนอ “ขอซื้อ” ลูกค้าบรอดแบนด์รายย่อยจาก NT ทั้งหมด (ปัจจุบัน NT มีลูกค้าบรอดแบนด์ทั้งหมดราว 1.8 -2 ล้านราย) รวมถึงเช่าใช้โครงข่ายจาก NT ด้วย
ภายหลัง AIS แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าดีลนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
แต่ได้สร้างคำถามเป็นวงกว้างว่า การดีลเช่นนี้ โดยเฉพาะ “การเสนอซื้อลูกค้า” ในธุรกิจโทรคมนาคมมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ และทำได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญหลายรายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
แหล่งข่าวใน กสทช. กล่าวว่า ลูกค้ามือถือ-บรอดแบรนด์ซื้อขายกันไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์ของลูกค้าและ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม อยู่บนพื้นฐานของสัญญา ซึ่งการจะบอกเลิกสัญญาต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า
แต่ในกรณีของการรับโอนลูกค้าของ NT มาดูแล ก็เป็นไปได้สูง และทำได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ล้วนขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วยว่าจะยินยอมหรือไม่ ลูกค้าอาจไม่อยากรับโอนไปแล้วอยู่กับ AIS ก็ได้
ในส่วนของการขอเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเช่าใช้โครงข่ายบรอดแบนด์นั้น สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องรายงานต่อบอร์ด กสทช.
ขณะที่ ธุรกิจโมบายหรือมือถือนั้น ปัจจุบัน NT ถือครองคลื่นเพียงย่านความถี่เดียว คือ 700 MHz ก็ต้องดูศักยภาพความเป็นจริงทางการดำเนินธุรกิจว่าไปต่อได้ไหม เพราะอาจเป็นข้อเท็จจริงใหม่ว่าประมูลคลื่นได้ใบอนุญาตไปแล้ว แต่ไปทำธุรกิจต่อไม่ได้ ต้องโอนไปให้คนอื่น เรื่องนี้ NT ต้องไปพิจารณาเองว่าจะทำอย่างไรและจะตอบสังคมอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การจะโอนลูกค้ามือถือไปให้ AIS ดูแลนั้น ขึ้นกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
“ทุกขั้นตอนมีประกาศ กสทช. รองรับทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการโอนคลื่น เช่าใช้ ซื้อขายสินทรัพย์ การบริหารจัดการ/การดูแล/การให้บริการลูกค้าหรือผู้บริโภค ล้วนต้องรายงานต่อ บอร์ด กสทช. ทั้งนี้ มติการรับทราบ หรือ มติเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบของบอร์ด กสทช. ขึ้นอยู่กับว่าขนาดของดีลส่งผลกระทบกับผู้คน และตลาดมากน้อยเพียงใด”
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารที่ AIS ส่งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT นั้น ยังระบุด้วยว่า จะมีการนำข้อเสนออย่างเป็นทางการภายหลังจากที่ได้หารือกับ NT และทำ due diligence แล้วเสร็จ เสมือนเป็นการโยนหินถามทางหาโอกาสในการบรรลุดีลในภายภาคหน้า
แม้ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่เป็นจังหวะที่น่าจับตาด้วยมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างในวงการโทรคมนาคม ทั้งการปรับบอร์ดใหญ่ของ NT การปรับโครงสร้างของทรู คอร์ปอเรชั่น การใกล้หมดวาระของซีอีโอ AIS รวมถึงการประมูลคลื่น 5G ที่กระชั้นเข้ามาในวันที่ 29 มิ.ย. นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง