การที่เหล่าผู้ประกอบการต้องรับมือกับความท้าทายที่รายล้อม และต้องคอยแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่เข้ามาพิสูจน์ความสามารถแบบไม่หยุดหย่อน เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยี AI ภายในองค์กร
องค์กรขยับสู่ Frontier Firm
รายงาน Work Trend Index ปี 2025 ของ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ที่สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร และพนักงานกว่า 31,000 คน จาก 31 ประเทศทั่วโลก ควบคู่ไปกับข้อมูลความเคลื่อนไหวในตลาดแรงงานโลกจาก LinkedIn รวมถึงข้อมูลจากการใช้งานจริงของกลุ่มผู้ใช้ Microsoft 365 ระดับองค์กร ได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการปรับตัวขององค์กรในประเทศไทย และทั่วโลกที่มุ่งไปสู่การเป็น “Frontier Firm” หรือองค์กรระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรมที่ผสานการทำงานของ AI และการสร้างทีมงานรูปแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกัน
ผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 90% (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 82%) มีแผนนำ AI Agent เข้ามาทำงานเคียงข้างพนักงานใน 12-18 เดือนข้างหน้า เนื่องจาก AI Agent ทำความเข้าใจในเนื้องาน วางแผนงาน และทำงานบางส่วนโดยอัตโนมัติ ถือเป็นการขยายองค์กรด้วย “ทีมงานดิจิทัล” ผ่านเทคโนโลยี AI แบบกลาย ๆ
ทาเลนต์ต้องมีทักษะ AI
สิ่งที่หลายองค์กรกำลังมุ่งไป ต้องการ “ทุนมนุษย์” มากฝีมือ หรือทาเลนต์มานำทัพ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI Agent อย่างลงตัว มีคนคอยตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนที่สำคัญ ทำให้ชุดทักษะที่องค์กรต้องการจากคนทำงานยุคใหม่ ไม่ได้มีแค่เรื่องภาษา การสื่อสาร และความสามารถในการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่จะต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับ AI ด้วย
จากรายงาน Micro-Credentials Impact Report 2025 ของ “คอร์สเซรา” (Coursera) รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากนายจ้างกว่า 1,000 ราย และผู้เรียน 1,200 รายใน 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร บราซิล ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย ไทย และตุรกี เพื่อศึกษาอิทธิพลของ “Micro-Credentials” หรือหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้นที่มีผลต่อการจ้างงานในปัจจุบัน
พบว่า 98% ของนายจ้างชาวไทยมองว่า Micro-Credentials ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้สมัครงาน และเชื่อว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่มี Micro-Credentials พร้อมทำงานได้ทันที และทักษะด้าน Gen AI กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจจ้างงาน โดยนายจ้างกว่า 95% ต้องการผู้สมัครที่มีใบรับรอง Gen AI แม้จะมีประสบการณ์น้อย มากกว่าผู้สมัครที่มีประสบการณ์แต่ไม่มีใบรับรอง
เมื่อความต้องการของตลาดแรงงานมีโจทย์เรื่องทักษะ AI เพิ่มขึ้นมา ผู้คนจึงแห่แหนกันไปลงทะเบียนเรียนคอร์สระยะสั้น เพื่ออัพสกิลให้ทันความต้องการ โดยในปี 2024 ที่ผ่านมา ยอดลงทะเบียนคอร์สเกี่ยวกับ Gen AI บน “คอร์สเซรา” โตจากปีก่อนหน้า ถึง 460% อีกทั้งองค์กรต่าง ๆ ยังให้ความสำคัญกับการจัดหาหลักสูตร Gen AI มาให้พนักงานเรียนมากขึ้น และความคืบหน้าในการเรียนแต่ละหลักสูตรจะนับเป็น KPI ในการทำงานด้วย
ทรู ดิจิทัล อคาเดมี คว้าโอกาส
“ชนนิกานต์ จิรา” ผู้อำนวยการ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี กล่าวว่า เมื่อทุกสาขาอาชีพต้องเข้าใจ และใช้ AI ให้เป็น ทรู ดิจิทัล อคาเดมี ซึ่งพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยี และการบริหารธุรกิจอยู่แล้ว จึงออกแบบโมเดลการเรียนรู้แบบครบวงจร “PromptSphere” เพื่อปูทางสร้างอาชีพใหม่ด้วยระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มี AI เป็นแกนหลัก
โดยปรับเปลี่ยนทั้งหลักสูตร และรูปแบบการเรียนรู้ได้ตามความต้องการ ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ Curriculum หลักสูตรยกระดับ 4 ทักษะหลักแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น AI, Business, Tech และ Data, Credentials เสริมองค์ความรู้ (Knowledge) พร้อมประกาศนียบัตรรับรอง (Certificate), Career โอกาสการพัฒนาทางอาชีพ ผ่านเครือข่ายธุรกิจของทรูคอร์ป และพันธมิตรและ Community การเติบโตในสายอาชีพ ผ่านเครือข่ายเพื่อนร่วมเรียน และผู้เรียนในรุ่นอื่น ๆ
“ทรู ดิจิทัล อคาเดมี ตั้งขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน มีทั้งส่วนที่ซัพพอร์ตการอัพสกิลคนของทรู และเปิดหลักสูตรสอนคนภายนอก ที่ผ่านมามีผู้เรียนที่เรียนจบไปแล้วกว่า 60,000 คน ปีนี้ตั้งเป้าว่าเพิ่มอีก 20,000 คน คาดว่ากว่าครึ่งมาพร้อมโจทย์เรื่องการอัพสกิลด้าน AI”
พร้อมรับผู้เรียน Gen Z
“ชนนิกานต์” กล่าวต่อว่า รายได้กว่า 80% มาจากลูกค้าองค์กรแบบ B2B ที่ให้ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี เข้าไปออกแบบหลักสูตรอัพสกิลให้ ผสมกันทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งในธุรกิจเดียวกันมีการแข่งขันจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่ชูจุดแข็งเรื่องความลึกของเนื้อหาด้วย แต่ข้อได้เปรียบของทรู ดิจิทัล อคาเดมี คือหลักสูตรที่เข้าใจคนไทย พัฒนาจากอินไซต์ของผู้เรียน เนื้อหาไม่ยากเกินไป ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจบหลักสูตรสูง
“ฐานผู้เรียนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่ม Gen Y หรือคนที่อยู่ในตลาดแรงงานมาแล้วระยะหนึ่ง ชินการกับการดูวิดีโอยาว ๆ และจดโน้ตไปเรื่อย ๆ ค่อนข้างต่างจาก Gen Z ที่นิยมสื่อการเรียนแบบ Micro-Learning ดูคอนเทนต์สั้น ๆ แล้วเข้าใจเลย ซึ่งต้องดูต่อว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดแพลตฟอร์มเพื่อรองรับผู้เรียนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง”
เด็กจบใหม่ต้องใช้ AI เป็น
ด้าน “จี๊ป ไคลน์” กรรมการผู้จัดการกองทุน Raisewell Ventures และอาจารย์ประจำ University of California, Berkeley, Haas School of Business มองว่า AI คือ 3rd Technology Revolution ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นโจทย์ของทุกมหาวิทยาลัยที่ต้องออกแบบหลักสูตรให้เด็กเข้าใจการใช้งาน AI ได้
“ช่วงที่ ChatGPT เปิดตัวใหม่ ๆ อาจารย์ทุกคนใน UC Berkeley ต้องอัพสกิล และเข้าเทรนนิ่งการใช้ AI ตลอด 6 เดือน เพื่อที่จะนำ AI เข้าไปปรับใช้กับการเรียนการสอน ด้วยความที่มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม และเป็น Top 4 ของโลก ทำให้เราช้าไม่ได้”
“จี๊ป” บอกด้วยว่า ความสามารถของ AI ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมหาศาล เพราะกลายเป็น “Requirement” ของนายจ้างที่คาดหวังให้นักศึกษาจบใหม่ต้องใช้ AI เป็น และเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้เกิด Productivity ได้มากขึ้น
“เมื่อก่อนถ้าจี๊ปจะตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพ อาจต้องจ้างเด็กที่จบบริหารธุรกิจ 3 คน แต่พอมี AI เข้ามาช่วย เหลือจ้างแค่ครึ่งคนก็พอ เพราะความสามารถของ AI ช่วยจัดการงานได้หมด ตอนนี้ AI กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ต้องมีติดตัวไปแล้ว”
อ่านข่าวต้นฉบับ: การจ้างงานยุค AI เปลี่ยนโลก เด็กจบใหม่ถูกคาดหวังสูง วัยทำงานเร่งอัพสกิลหนีตาย ?