“คลังแตก” มุมมืด สงครามส่งด่วน สงครามราคาที่เกือบทำโลจิสติกส์พินาศ

“คลังแตก” มุมมืด สงครามส่งด่วน สงครามราคาที่เกือบทำโลจิสติกส์พินาศ


ภาพการเผาสินค้าค้างในคลัง ในตอนที่ 4 ของซีรีส์ สงคราม ส่งด่วน _ ตัวอย่างอย่างเป็นทางการ _ Netflix

“คลังสินค้าแตก” เป็นหนึ่งในฉากสำคัญในซีรีส์ “สงครามส่งด่วน” ที่สะท้อนภาพการแข่งขันดุเดือดของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ที่เล่นเอายักษ์ใหญ่ร่อแร่ และกลไกราคาพินาศย่อยยับ

“สงครามส่งด่วน” ซึ่งเป็นเรื่องราวของสตาร์ตอัพไฟแรงอย่าง “Thunder Express” ที่ต้องการสร้างบริษัทขนส่งด่วนที่ราคาถูก แต่บริการระดับธุรกิจ และสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยต้องฟาดฟันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม

โดยท้องเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจาก “คมสันต์ ลี” ผู้ก่อตั้ง Flash Express และบุกเบิกธุรกิจส่งด่วนเอกชนในไทย ที่ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัพระดับ 3 หมื่นล้านบาท หรือเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวแรกของไทย

ก่อนอื่นต้องเน้นย้ำว่า นี่เป็นซีรีส์ดัดแปลงเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางธุรกิจ แต่ก็สะท้อนภาพที่น่าสนใจหลายแง่มุม อย่างในตอนที่ 4 ของซีรีส์ชุดนี้ ที่มีการแสดงภาพของภาวะสินค้าล้นคลัง จนทำให้ “Thunder Express” ประสบปัญหาส่งของให้ลูกค้าไม่ทัน

ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแวดวงอุตสาหกรรมส่งด่วน ในหลายบริษัท หลายโกดัง และหลายวาระ สืบเนื่องจากปริมาณสินค้าจากอีคอมเมิร์ซมาเร็ว ทะลัก และการขยายตัวของขนส่งก็เร็วเกินไป

เรามักเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “คลังระเบิด” หรือ “คลังแตก”

แคมเปญดับเบิลเดตของอีคอมเมิร์ซ จุดพลุส่งด่วนระอุ

จากการติดตามข่าวสารในแวดวงอีคอมเมิร์ซ และขนส่งด่วนอย่างใกล้ชิด ของทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ธุรกิจส่งด่วนเนื้อหอม เป็นดาวรุ่งใหม่ คือ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้งานอีคอมเมิร์ซ ทั้งการค้าขายของโดยตรงของพ่อค้าแม่ค้า และการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า และหลายปีก่อน มี เจ.ดี. เซ็นทรัล ด้วย

ปริมาณยอดขายสินค้ารายชิ้นที่เติบโตขึ้นทำให้พัสดุมีวอลุ่มมหาศาล เอื้อให้เกิดการจัดการโลจิสติกส์แบบวันเดียวถึงที่คุ้มค่าขึ้น ดังนั้น ราวปี 2558-2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการดำเนินเรื่องในซีรีส์ บริษัทขนส่งหน้าใหม่ ๆ เดินหน้าสู่ประเทศไทย ชิงเค้กเจ้าพ่อยักษ์แดง “ไปรษณีย์ไทย” อย่างต่อเนื่อง

ที่โดดเด่นมาก ๆ เป็น Kerry ที่เปิดหน้าร้านปูพรมทั่วทุกพื้นที่ ตามมาด้วยอีกหลายเจ้าจากจีนทั้ง J&T, Best รวมถึงการเกิดขึ้นของ Flash Express

ในช่วงนั้นแพลฟอร์มอีคอมเมิร์ซโหมดึงผู้ใช้ “เผาเงิน” ด้วยคูปองส่งฟรี ส่วนลด และที่หนักที่สุดคือช่วงวันคู่ หรือดับเบิลเดต เช่น 9.9 11.11 เป็นต้น

เท่าที่แหล่งข่าวหลายแหล่งระบุ ช่วงเวลาดับเบิลเดตทำให้มีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นในระบบโลจิสติกส์มากกว่าช่วงปกติ 2-3 เท่าตัว

สงครามราคา ถึงปัญหา “คลังแตก”

การที่มีปริมาณสินค้าเยอะในช่วงดับเบิลเดต ดูเหมือนว่าจะส่งผลดีกับธุรกิจส่งด่วน แต่กลับเป็นดาบสองคมเมื่อมีการ “ส่งไม่ทัน” ที่นำไปสู่ “คลังแตก” เพราะแรงกดดันที่เกิดขึ้นต่อ “พนักงาน”

โดยทั่วไป “คลังแตก” หมายถึง สถานการณ์ที่สินค้าในคลังหรือโกดังเก็บรักษาสินค้ามีปริมาณมากจนเกินความสามารถในการจัดการและจัดส่ง ทำให้สินค้าไม่สามารถส่งได้ตามเวลาที่กำหนดหรืออาจต้องถูกส่งคืน

หากย้อนดูข่าวเก่า ๆ จะพบว่า ปัญหาคลังแตก เกิดขึ้นกับขนส่งหลายเจ้า ที่อยู่ในช่วง “กำลังเติบโต” ซึ่งถูกสะท้อนผ่านผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์ว่าปัญหาเริ่มต้นจาก “สงครามราคา”

ด้วยบริษัทขนส่งด่วนรายใหม่ ๆ ที่เข้ามาในตลาด มองว่า หากกดราคาขนส่งขั้นต่ำและกวาดเอาลูกค้ามาไว้ในมือมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ แล้วทำกำไรภายหลัง ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับธุรกิจแพลตฟอร์มในยุคนั้น คือทุ่มตลาดด้วยการเผาเงินดึงลูกค้า

ทุกเจ้าคิดเหมือนกัน จนเกิดการแข่งขันด้าน “ราคา” ที่บิดเบือนต้นทุนที่แท้จริงของระบบขนส่ง

“ราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง 1 บาท ก็กวาดพัสดุไปได้หลายล้านชิ้น เพราะคนที่ส่งของปริมาณเยอะอย่างพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ถ้าเขาส่งของหมื่นชิ้นต่อเดือน เขาจะลดต้นทุนได้เดือนละ 1 หมื่นบาท ดังนั้นเขาต้องเลือกที่ถูกกว่าเสมอ”

ไม่ใช่แค่ลดค่าส่ง แต่แพลตฟอร์มต้องกวาดทุกฝ่ายเข้าสู่อีโคซิสเต็ม ซึ่งนอกจากลูกค้าแล้วยังมี “ร้านค้า” “จุดรับพัสดุ” ที่สำคัญ คือ “ไรเดอร์” หรือผู้นำจ่าย ซึ่งมีการดึงดูดด้วยค่าอินเซนทีฟสูง และอัตราค่าตอบแทนรายชิ้นงาน และใครก็ได้มาขับส่งของให้ จนแทบไม่มีการตรวจประวัติ จนเกิดเป็นกระแสการออกรถตู้ทึบมาส่งของกันทั่วเมือง

แต่การเผาเงินไปลด “ค่าจัดส่ง” ไม่สัมพันธ์กับ “ค่าจ้างจัดส่ง” ย่อมถึงจุดสิ้นสุดเมื่อเกิดจุดวิกฤตบางประการ อย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุโควิด-19 ทำให้การบริหารคลังสินค้าหลายแห่งวิกฤต เนื่องจากผู้ดูแลโกดัง และผู้จัดส่งไม่สามารถมาทำงานได้ทันกับปริมาณออร์เดอร์ที่ต้องส่ง ทำให้มีสินค้าคงค้าง เมื่อสินค้าค้างนานเกินเวลาที่กำหนดต้องมีการปรับ และพนักงานก็ลาออก จนต้องไปหาเอาต์ซอร์ซ หรือซับคอนแทร็กต์ภายนอกมาวิ่งงานช่วย

ลักษณะพัสดุค้างส่ง เมื่อโดนลูกค้าคอมเพลนครบ 3-4 ครั้ง จะถูกหักค่าคอมมิชชั่น (แล้วแต่นโยบายของบริษัทแต่ละแห่ง) เมื่อรวมกับปริมาณงานมหาศาลที่ต้องแบกรับยิ่งกดดันสภาพการทำงานให้ย่ำแย่ ทำให้พนักงานลาออก เมื่อพนักงานลาออกก็ไม่สามารถเปิดรับออร์เดอร์ไม่ได้เกิน 7-10 วัน และยังระบายของเก่าไม่หมดอีก จึงจำต้องปิดคลังไป เรียกว่า “คลังแตก”

หลายฝ่ายยังมองอีกว่า เมื่อราคาส่งถูก ทำราคาที่จ่ายให้กับ “เอาต์ซอร์ซ” หรือพวกรถบรรทุกตู้ทึบ และ Last mile หรือพนักงานนำจ่ายปลายทางก็ต้องถูกตัดทิ้งเป็นอันดับแรก ทำให้ราคาต่อชิ้นที่พนักงานนำจ่ายได้รับต่ำลง ยิ่งต้องส่งของมากขึ้น เร่งรีบขึ้น คุณภาพการส่งของจึงต่ำลง มีทั้งยัดกล่อง โยนกล่อง จนเสียสภาพ เพื่อเร่งให้ทันเวลาและได้ปริมาณมากที่สุด ยิ่งซ้ำเติมภาระให้กับพนักงานนำจ่าย ทำให้มีการ “เทิร์นโอเวอร์” ออกสูงมาก หรือบางรายก็เลือกที่จะทุจริต ลักขโมย และโกงบริษัทไปเลย

ปัญหาหลากหลายนี้ เกิดขึ้นสัมพันธ์กันในช่วงโควิด และหลังโควิด-19 ส่งผลต่อความเชื่อมมั่นของแบรนด์เป็นวงกว้าง ทำให้อุตสาหกรรมขนส่งตระหนัก และหลายบริษัทเริ่มที่จะกลับสู่ทิศทางของการแข่งขันที่แท้จริง คือ ไม่แข่งราคาเกินไป แต่ไปโฟกัสความเชื่อมั่น และคุณภาพการส่งมากขึ้น

เพราะปัจจุบันการค้าขายอีคอมเมิร์ซ ทวีความสำคัญมาก เป็นช่องทางหลักของการค้าปลีกในปัจจุบัน หากใช้บริการขนส่งที่ไม่อาจวางใจได้ว่าจะเกิดคลังแตกอีกเมื่อไหร่ จะทำให้ธุรกิจเสี่ยงสูง

และหากธุรกิจรายเล็กรายน้อยของประเทศแขวนอยู่บนความเสี่ยง ประชาชนไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งตามเวลา ก็กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้

นี่คือมุมมองอีกด้าน ของสงครามราคาการขนส่งพัสดุ ที่เกือบจะทำลายระบบโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์ของประเทศไทยไปแล้ว

กลับสู่บริการคุณภาพ ?

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่เลี่ยงไม่ได้ คือ การที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เข้ามาทำระบบโลจิสติกส์เอง เช่น SPX ของ Shopee และ ของ Lazada เองก็ด้วย ทำให้บริษัทขนส่งที่ไม่มี “ของ” เองต้องตื่นตัวเพราะสัดส่วนการจัดส่งจะถูกแบ่งไปให้เจ้าของแพลตฟอร์มเอง ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้วว่าสายขนส่งไหนมีปริมาณหนาแน่น และจัดส่งได้ “คุ้ม” ที่สุด

แรงบีบเหล่านี้ ทำให้บริษัทขนส่งหลายรายต้องปรับตัวอีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ ไปรษณีย์ไทย ที่ต้องออกไปรับพัสดุหน้าบ้าน ขยายเวลาปิดทำการ รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเอง ในขณะที่รายอื่น ๆ อย่าง Flash ก็ต้องไปจับตลาด ไลฟ์คอมเมิร์ซ เพื่อจัดส่งแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้อินฟลูเอนเซอร์ที่ขายของออนไลน์ และขยายสู่ต่างประเทศ เป็นต้น

จากการติดตามข่าวสารในแวดวง “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าทุกฝ่ายล้วนมียุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นโลจิสติกส์ส่งด่วนทีมีคุณภาพ แต่ในทางเดียวกัน เรื่องของคุณภาพและบริการไม่อาจสะท้อนผ่านเรื่องเล่าของบริษทขนส่ง

แต่อยู่ที่ประชาชนผู้ใช้บริการทุกคนว่า ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ?

ตรงนี้ทุกท่านต้องตอบเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง