เข้าสู่วาระที่ 2 แม่ทัพใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ของ “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” ในช่วง 4 ปีแรกที่สร้างความโดดเด่นผ่านการจัดกระบวน “ขนส่งแห่งชาติ” สู้ศึกอีคอมเมิร์ซและสินค้าข้ามพรมแดน ฝ่าวิกฤตโควิด และกระแสคลื่นกลุ่มทุนขนส่งข้ามชาติที่เข้ามายึดหัวหาด ส่งผลให้ ปณท ถึงกับประสบภาวะขาดทุน ต้องปรับตัวขนานใหญ่จนเริ่มพลิกขึ้นมาทำกำไรได้อีกครั้งในปีที่ผ่านมา
ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/2568 ที่ปัง ทั้งตัวเลขรายได้และกำไร สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนได้เป็นอย่างดี (รายได้รวม 5,945.09 ล้านบาท กำไร 534.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 227.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
แต่สบายตัวได้ไม่นาน “ดนันท์” บอกว่าความท้าทายบทใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จากมาตรการภาษีต่างตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา
ผลงานไตรมาสแรก 2568
“ดนันท์” พูดถึงผลประกอบการล่าสุดว่า เกิดจากการบริหารจัดการ (Optimized) ด้วย “ข้อมูล” อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปรับตัวมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งการจัดแบ่งโซนการจัดส่ง, การจัดสรรเวลา และวางระวางแบบใหม่ ทำให้เห็นว่ามีในบางพื้นที่เพิ่มราคาได้ เช่น ในพื้นที่ตามรหัสไปรษณีย์แบบเดิม หากแบ่งย่อยลงไปในระดับตำบล จะเห็นว่ามีดีมานด์ต่างกัน สามารถปรับเพิ่มราคาได้ แต่สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคยังเชื่อมั่นที่จะส่งของกับไปรษณีย์ ไม่ใช่เรื่อง “ราคา” อย่างเดียว แต่เป็นการส่งมอบความเชื่อมั่นใน “แบรนด์”
“เป็นผลของการสร้างแบรนด์ไปรษณีย์ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ความเชื่อมั่น และการบริหารจัดการที่ดี ทำให้รายได้ต่อชิ้นงานเพิ่มขึ้น 10% โดยรายได้หลักยังมาจากบริการไปรษณีย์ในประเทศ เติบโต 20.17% ส่วนบริการขนส่งและโลจิสติกส์ เติบโต 13.15% ขณะที่ปริมาณชิ้นงานรวมเพิ่มขึ้น 7.48% โดยเฉพาะบริการ EMS เพิ่มขึ้น 5.94%”
แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีต่างตอบโต้ หรือนโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs Policy) ว่าจะกระทบการขนส่งต่างประเทศโดยตรงหรือไม่ และอย่างไร รวมถึงปริมาณสินค้าที่จะไหลไปที่ใดและอาจส่งผลต่อการขนส่งระหว่างประเทศทั่วโลก
“เรากำหนดให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานนโยบายดังกล่าว และข้อยกเว้นภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 เหรียญสหรัฐ (De Minimis Exemption) กับการไปรษณีย์สหรัฐอเมริกาด้วย ปริมาณสินค้าไม่หายไปจากระบบการค้าข้ามพรมแดน แต่จะไหลไปที่ใดต้องจับตาให้ดี”
ความท้าทายใหม่
“ดนันท์” มองว่าหากสินค้าไหลมาที่ไทย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ “SMEs”
ปัจจุบันปริมาณของที่ส่งไปต่างประเทศลดลงราว 10% ทั้งไตรมาสต่อไตรมาส และเดือนต่อเดือน เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ใช่เรื่องภาษี แต่ก็ส่งผลกระทบกับ SMEs เช่นกัน
“เรื่องภาษีจะทำให้สินค้าจำนวนมากหาที่ไป ด้วยการพิจารณาจากต้นทุนที่แข่งขันได้ ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยการทำต้นทุนขนส่งที่ได้เปรียบ ถ้าทำได้ก็จะเป็นโอกาสในการรองรับวอลุ่มสินค้าที่อาจทะลักเข้าประเทศ เพื่อขยายบทบาทในตลาดส่งออกและนำเข้า”
ผนึกกำลังเสริมแกร่ง SMEs
ในธุรกิจการจัดส่งต่างประเทศ จะมีดีลใหญ่อย่างการจัดส่งของจาก SMEs ไทยไปขึ้นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก อย่าง Amazon.com หรือ eBay ผ่านการต่อท่อส่งของจาก SMEs ตรงไปที่โกดัง Amazon FBA
ถามว่ามาตรการภาษีของสหรัฐจะส่งผลต่อสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ SMEs ไทย และแผนการต่อท่อสินค้าไทยข้ามพรมแดนอย่างไร “ดนันท์” มองว่าสินค้าที่ต่อท่อไปยังสหรัฐ จะต้องมีความเฉพาะตัว (ยูนีค) เป็นที่ต้องการ แม้จะได้รับผลกระทบจากภาษีทำให้ “ราคา” ปรับขึ้น เพราะจะยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ
สิ่งที่ “ดนันท์” เน้นย้ำ คือ การสร้างความยั่งยืนในระบบขนส่ง ทำได้ด้วยการสร้างดีมานด์ขึ้นเองจาก SMEs ล่าสุด ปณท กับสภาเอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย มีความร่วมมือร่วมกันเพิ่มเติม จากเดิมที่มีช่องทางให้เอสเอ็มอีอยู่แล้วใน Thailand PostMart มีระบบจัดการออร์เดอร์ และอำนวยความสะดวกในเรื่องการส่งสินค้า เป็นต้น
“ความร่วมมือกับสภาเอสเอ็มอีไทยจะผลักดันฝั่งการผลิต และเสริมคุณภาพ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีชิ้นงานเป็นหน้าเป็นตาส่งออกได้ ชดเชยวอลุ่มที่อาจเสียไป เป็นการเสริมอีโคซิสเต็มให้เต็ม ตั้งแต่การผลิตถึงส่งออก”
สานต่อยุทธศาสตร์ 6 ด้าน
ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ยกระดับบริการ EMS ที่ตอบโจทย์ตลาด B2C และ C2C 2.ขยายบริการขนส่งครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เช่น ยา สินค้าเกษตร สินค้าไลฟ์สไตล์ 3.ให้บริการทางการเงิน 4.ดำเนินธุรกิจค้าปลีกแบบ Omnichannel ผ่าน ThailandPostMart และสินค้า House Brand
5.รองรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนผ่าน eBay, Amazon FBA และพันธมิตร RAPA ในอาเซียน และ 6.พัฒนา Prompt Post ให้เป็น Information Logistics ด้วยฟีเจอร์ใหม่ เช่น Digital Postbox, Passport Tracking และ Prompt Vote
ในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Post Next เดินหน้าสู่ Information Logistics ในไตรมาส 3/2568 บริการ “Prompt Post” ที่จะมีการอัพเกรดฟีเจอร์เพิ่มขึ้น คือ Digital Postbox การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยและเป็นส่วนบุคคล, Passport Tracking ติดตามสถานะพาสปอร์ต, Prompt Pass เชื่อมข้อมูลภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์ด้วยความรวดเร็ว
อัพสปีด Tech-Data Post
สำหรับการลงทุนในปีนี้จะอยู่ที่ราว 1.5 พันล้านบาท เพื่อเร่งพัฒนาระบบดิจิทัลสู่ Information Logistics สร้างแพลตฟอร์ม SuperApp ที่มีทั้งบริการ Digital Postbox ที่สามารถแจ้งเตือนสถานะพัสดุ, ไปรษณีย์ และอื่น ๆ ตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้งาน 5 ล้านคนในปีนี้
“สิ่งที่ได้จากแอปหรือแพลตฟอร์ม คือ ข้อมูลด้านโลจิสติกส์ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ และ Optimized ระบบงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน แม้เราจะมีข้อมูลเป็นพื้นฐานตัดสินใจ แต่ยังต้องใช้มนุษย์ในการเลือกว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้ามีข้อมูลมากพอจะพัฒนาอัลกอริทึมช่วยคิดได้ว่า ของชิ้นไหนควรจัดส่งก่อนหรือหลัง ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายได้สูงสุด”
ในส่วนของ “เอไอ” จะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่การวิเคราะห์เส้นทางจัดส่ง, จุดรับจ่ายพัสดุ, ระบบ CRM ที่เป็น Personalization รวมไปถึงการอบรมบุคลากร
อ่านข่าวต้นฉบับ: ความท้าทายใหม่ ไปรษณีย์ไทย จัดแผนตั้งรับ ‘สงครามภาษี’