ชิงขุมทรัพย์แสนล้าน DE – DGA เร่งไฟเขียว หน่วยงานรัฐใช้คลาวด์เอกชน

ชิงขุมทรัพย์แสนล้าน DE – DGA เร่งไฟเขียว หน่วยงานรัฐใช้คลาวด์เอกชน



คลาวด์กลางภาครัฐใช้งานทะลุ 40,000VM ความต้องการอาจถึง 2แสน VM ขณะ DGA จ่อออกมาตรฐานเอื้อหน่วยงานรัฐใช้คลาวด์เอกชนได้ ด้าน NT เปิดตัว “GDCC Open Data” ยกระดับศักยภาพคลาวด์ภาครัฐสู้ 

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ระบบคลาวด์กลางภาครัฐเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดีอีจึงมุ่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างคลาวด์กลางหลักของภาครัฐ โดยล่าสุดระบบคลาวด์ GDCC Open Data เป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของคลาวด์ภาครัฐตามแนวนโยบาย Go Cloud First  

โดย GDCC Open Data คลาวด์กลางรูปแบบใหม่ได้บูรณาการความร่วมมือผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT), Alibaba, AWS, CloudHM, Huawei, INET, NIPA, Microsoft และ Oracle เป็นการยกระดับการทำงานของคลาวด์ภาครัฐ ทั้งด้านทรัพยากรไอที เทคโนโลยีคลาวด์และเอไอ การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่มีมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล  พร้อมรองรับการเป็นโครงสร้างสำคัญให้กับรัฐบาลดิจิทัลเปลี่ยนผ่านการบริหารงานภาครัฐเป็นระบบงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven)

“ในปัจจุบันการใช้งานคลาวด์กลางจากหน่วยงานรัฐอยู่ 40,000 VM (กำลังประมวลผลเสมือน) ขณะที่ความต้องการจริงอาจถึง 1-2แสน VM ด้วยนโยบายของรัฐบาลตอนนี้ไม่ให้งบประมาณหน่วยงานตั้งเซิร์ฟเวอร์เองแล้ว ทุกคนต้อง Go Cloud First”

ในส่วนของงบสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ใช้ราว 1-2พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคลาวด์กลางภาครัฐรองรับการทำงานเต็มศักยภาพแล้วและยังคงเป็นการลงทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขึ้นคลาวด์ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุ (capacity) ของระบบปัจจุบัน แม้ในความเป็นจริง รัฐบาลมีการสำรวจพบว่าหากผลักดันทุกหน่วยขึ้นคลาวด์จริง ความต้องการจะทะลุเกิน 200,000 VM อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อรวมระบบใหญ่ที่กำลังทยอยสร้าง อาทิ ระบบ ERP หรือระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-Doc)

ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการลงทุนด้าน “ดาต้าเซ็นเตอร์” จากภาคเอกชน ซึ่งทางรัฐบาลได้ดำเนินการชักชวนมาอย่างต่อเนื่อง

“อย่างไรก็ตาม การใช้งานคลาวด์ของภาคเอกชน ยังมีข้อจำกัดอยู่ ด้านชั้นความอ่อนไหวของข้อมูล ซึ่งตอนนี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กำลังจัดทำขึ้น คาดจะแล้วเสร็จในเดือนนี้ เป็นมาตรฐานที่ทำให้เห็นว่าข้อมูลประเภทใดต้องเก็บ-ประมวลผลไว้ในคลาวด์รัฐเท่านั้น ข้อมูลใดสามารถเก็บบนคลาวด์อื่นๆได้ แต่ต้องมีที่ตั้งในประเทศ เพื่อทำให้กระบวนการการย้ายข้อมูล (migration) ขึ้นคลาวด์ ทำได้หลากหลายและรองรับการเติบโต”

แผนขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ของ GCC ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 2569 มีวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ให้รวมเป็นราว 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ด้านเทคโนโลยี ปัจจุบันต้นทุนต่อเครื่อง VM ลดลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สามารถให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในต้นทุนเท่าเดิม จากเดิมเคยรองรับได้เพียง 20,000 VM ตอนนี้สามารถเพิ่มเป็น 40,000 VM ได้โดยใช้ทรัพยากรใกล้เคียงกัน และมีแผนจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

“หากมาตรฐานการแบ่งชั้นข้อมูลแล้วเสร็จ และมีนโยบายภาครัฐให้หน่วยงานขึ้นคลาวด์ทันที ผมมั่นใจว่า 200,000 VM จะเต็มภายในเวลาอันสั้น” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) หน่วยงานผู้ดำเนินโครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ  GDCC (Government Data Center and Cloud Services) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลระบบคลาวด์ภาครัฐ GDCC  เป็นศูนย์รวมข้อมูลภาครัฐที่ปลอดภัยด้วยมาตรฐานสากล

โดยให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐแล้วจำนวน 204 กรม 1,182 หน่วยงาน 3,753 ระบบงานที่ผ่านมาคลาวด์กลาง GDCC มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผล แพลตฟอร์มบริการจัดการสำนักงาน e-Office

รวมทั้งขยายบริการด้านแพลตฟอร์มกลางแก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านข้อมูลเปิด เช่น ระบบพอร์ทัลกลางสำหรับประชาชน (Citizen Portal) ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ระบบแลกเปลี่ยนประวัติการรักษาผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล (Health Link)  ระบบกลางด้านกฎหมาย (Law Portal) ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ (GD Catalog) การพัฒนาระบบยืนยันตัวตนกลาง (Digital ID) ฯลฯ

ทั้งนี้ ในอนาคตการต่อยอดการใช้งานคลาวด์จะเน้นไปที่การต่อยอดด้านการเชื่อมโยงและใช้งานข้อมูล ซึ่งการพัฒนาคลาวด์ระบบใหม่ GDCC Open Data ดังกล่าวจะสามารถรองรับการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม  ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมที่ยั่งยืน  ด้วยการนำข้อมูลจาก GDCC Open Data มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ควบคู่กับการใช้งานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ในการสร้างนโยบายและบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง  พร้อมทั้งส่งเสริมความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของภาครัฐ    

ขุมทรัพย์คลาวด์แสนล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานด้วยว่า ภายใต้นโยบาย Go Cloud First มีการจัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้ออำนวยต่อการเช่าใช้คลาวด์ให้ง่ายขึ้นและมีราคาถูกลง

พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) กล่าวว่า NT พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการพับลิกคลาวด์ระดับโลกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบคลาวด์ GDCC Open Data รองรับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลด้านการบูรณาการข้อมูลภาครัฐให้เป็น Open Data ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การเทรน AI ของภาครัฐด้วยข้อมูลของประเทศไทย 

โดย NT ได้พัฒนา Cloud Management Platform (CMP) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางในการบริหารจัดการเชื่อมโยงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างระบบคลาวด์ GDCC และระบบคลาวด์ GDCC Open Data ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเลือกใช้บริการคลาวด์ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละงานรวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพผ่านแพลตฟอร์มกลางดังกล่าว

CMP นี้ จะเป็นระบบที่กระจายบริการคลาวด์ไปยังผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะต่างๆ เช่น AWS, Oracle หรือ Azure เป็นต้น โดยปัจจุบันมีค่าบริการไหลผ่านแพลตฟอร์มนี้ราว 30 ล้านบาทต่อเดือน (เริ่มให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2568)

ในขณะที่การใช้บริการคลาวด์ โดยสภาพัฒน์ วัดด้วยความต้องการเซิร์ฟเวอร์เสมือน (VM-Virtual Machine) ที่ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 VM ซึ่งปัจจุบันระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) มี NT เป็นผู้ดูแลระบบ ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) ด้วยระบบเซิร์ฟเวอร์เสมือนกว่า 45,000 – 47,000 VM รองรับหน่วยงานภาครัฐใช้บริการกว่า 800 หน่วยงาน รวมกว่า 3,000 ระบบงาน ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลแบบแยกหน่วยงานและใช้งานแบบไซโล

“ตัวเลขเป็นราย VM ตามมาตรฐานการจัดจ้างที่ทางกระทรวงออกระเบียบมาอยู่ที่ 1,700 บาท/VM/เดือน เป็นการตัดลดแล้วลดอีก จาก 4,000 บาท ในอดีต ถ้าคำนวณตรง ๆ ว่า VM โตปีละหมื่นคูณ 12 เดือน ก็เป็นรายได้ที่เพิ่มมาเกือบแสนล้านต่อปี ในระยะ 5 ปีที่ 1 แสน VM ต่อเดือนนับว่ารายได้เพิ่มขึ้นมาก และเมื่อคำนวนต้นทุนแล้ว NT มีกำไรอยู่ราว 10-20% ต่อ 1 VM”

อย่างไรก็ตาม จำนวนความต้องการที่เกิดขึ้น 1-2 แสนVM นั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้งานคลาวด์ในลักษณะ VM เพราะยังมีการใช้งานแบบ Fully Cloud ที่ใช้งานตามจำนวนที่ต้องการ ในส่วนนี้อาจจะมีการกระจายไปยังผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะตามชั้นความอ่อนไหวของข้อมูลที่มีการจัดแบ่งแล้ว 5 ระดับชั้น โดย คาดว่าระดับชั้นที่เป็นความอ่อนไหว อย่างมีโซเชียลนัมเบอร์จะมีอยู่ราว 30% ซึ่งต้องใช้คลาวด์กลางของเราแล้ว

 

อ่านข่าวต้นฉบับ: ชิงขุมทรัพย์แสนล้าน DE – DGA เร่งไฟเขียว หน่วยงานรัฐใช้คลาวด์เอกชน

อ่านข่าวต้นฉบับ ชิงขุมทรัพย์แสนล้าน DE – DGA เร่งไฟเขียว หน่วยงานรัฐใช้คลาวด์เอกชน