ท่องเที่ยวซึม ! กระแสความไม่ปลอดภัย-คอลเซ็นเตอร์ยังกระทบเชื่อมั่น สมาคมแอตต้าเผย ก.พ.-มี.ค. ชะลอตัวหนัก ตะลึงตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนรายวันร่วงต่ำหมื่น เมืองหลัก “กรุงเทพฯ-พัทยา” เงียบ ครึ่งปีหลังยังไร้ปัจจัยบวก เดินหน้าปั๊ม “กรุ๊ปทัวร์” จีน-อินเดีย-เกาหลีใต้-ตะวันออกกลาง-อาเซียน แตะ 10 ล้านคนหนุน ก.ท่องเที่ยวฯ เปิด 2 เดือนแรกต่างชาติเข้าไทย 6.82 ล้านคน ก.พ.จีนติดลบพุ่ง 45% แจงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงถือศีลอดมุสลิม บวกกับสิ้นสุดท่องเที่ยวฤดูหนาวยุโรป ทุบนักท่องเที่ยวติดลบทุกตลาด
ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มอยู่ในภาวะชะลอตัวและนิ่งมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (หลังตรุษจีน) ต่อเนื่องมาถึงต้นเดือนมีนาคม โดยเฉพาะตลาดจีนที่พบว่า 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมีจำนวนต่ำกว่า 10,000 คนต่อวัน จากปกติที่อยู่ในระดับ 12,000-14,000 คนต่อวัน (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) ขณะที่ตลาดยุโรปก็ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับเร็วกว่าปกติ
ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทรงตัวอยู่แบบนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมีซีซั่นเรื่องช่วงรอมฎอน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซียชะลอเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตเพิ่มอีกปัจจัยหนึ่ง ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังต้องลุ้นต่อ หากภาพรวมของปัญหาความไม่ปลอดภัยและคอลเซ็นเตอร์นิ่งขึ้น เชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมาเดินทางกันอีกครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้
“หลายคนมองว่าประเด็นที่ไทยส่งอุยกูร์กลับจีน และมีประกาศเตือนของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเรื่องให้ระมัดระวังความปลอดภัยจะส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น สมาคมแอตต้ามองว่าเป็นการเตือนขั้นพื้นฐานให้เฝ้าระวังเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นปัจจัยลบแต่อย่างใด” ดร.อดิษฐ์กล่าวและว่า แต่หากสถานการณ์ดังกล่าวรุนแรง กระทั่งรัฐบาลต่างประเทศออกประกาศเป็นสีแดง และบริษัทประกันไม่รับประกันการเดินทางจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนแน่นอน
ยันไม่เห็นปัจจัยบวกครึ่งปีหลัง
ดร.อดิษฐ์กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างนิ่งในช่วง 2 เดือนนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมในปีนี้ น่าจะอยู่ระดับประมาณ 37-38 ล้านคน จากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ประมาณ 39 ล้านคน เนื่องจากยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกในช่วงช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากการประกาศเป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025
ประกอบกับการกระตุ้นการตลาดผ่านช่องทางเอเย่นต์ หรือกรุ๊ปทัวร์ ยังน้อยเกินไป ผู้ประกอบการที่ทำตลาดกรุ๊ปทัวร์และซัพพลายเชนของตลาดกรุ๊ปทัวร์ อาทิ ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ยังไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก ส่วนใหญ่ยังแจ้งว่ายอดขายยังไม่กลับมา
ขณะที่แผนการของบประมาณ 3,500 ล้านบาท มาทำโครงการเที่ยวคนละครึ่ง รวมถึงแผนการอัดเมกะอีเวนต์ในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน ยาวตลอด 7 เดือนของรัฐบาลนั้น น่าจะเป็นปัจจัยบวกของตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก
“การจะปั๊มตัวเลขการท่องเที่ยวภายในประเทศมาชดเชยตลาดต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 คน เท่ากับตลาดไทยเที่ยวไทย 5 คน” ดร.อดิษฐ์กล่าว
เร่งกระตุ้นตลาด “กรุ๊ปทัวร์”
ดร.อดิษฐ์กล่าวด้วยว่า จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สมาคมแอตต้าในฐานะองค์กรทำตลาดอินบาวนด์ นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยผ่านเอเย่นต์ จึงมีแผนร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งทำการตลาดเชิงรุกกับตลาดกรุ๊ปทัวร์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะโฟกัสตลาด 5 ตลาดหลัก ประกอบด้วย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง (Middle East) และอาเซียน
โดยในส่วนของตลาดจีนนั้น ปีนี้วางเป้าหมายไปโรดโชว์ 2 ครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อเร่งกระตุ้นการเดินทางในช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่นเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน เพื่อรับไฮซีซั่นตั้งแต่ช่วงโกลเด้นวีก (วันหยุดชาติจีน) เดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงปลายปี โดยเน้นเจาะพื้นที่เมืองรองอันดับ 2 และ 3 (เมืองTier 2-3) ขณะที่ตลาดมิดเดิร์นอีสต์ ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ปีนี้จะไปจัดครั้งแรกที่ซาอุดีอาระเบีย เช่นกันกับตลาดอินเดียและเกาหลีใต้ ที่ตั้งเป้าอย่างน้อยตลาดละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีแผนต่อยอดงาน ATTA Connex Expo งานในรูปแบบ B2B ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยเชิญเอเย่นต์ทัวร์เข้าร่วมจำนวน 180 บริษัท จาก 15 ประเทศ เข้ามาพบปะกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ซึ่งปีนี้มีแผนขยายงานให้ใหญ่ขึ้น คาดว่าจะเชิญเอเย่นต์ทัวร์ไม่ต่ำกว่า 300 ราย จากประมาณ 25-30 ประเทศ เข้ามาพบปะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย
ตั้งเป้าปั๊ม 10 ล้านคน
เลขาธิการสมาคม ATTA กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สมาคมยังเชื่อว่าการกระตุ้นตลาดกรุ๊ปทัวร์จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้มูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศบรรลุเป้าหมายได้ เพราะยังเชื่อว่าจำนวนการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปสูงกว่ากลุ่ม FIT เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการบริการที่เป็นฟูลเซอร์วิส และมีความพร้อมในการใช้จ่าย ขณะที่กลุ่ม FIT นั้นมีแนวโน้มค่าเฉลี่ยอายุนักท่องเที่ยวต่ำลง ซึ่งอาจทำให้ศักยภาพในการใช้จ่ายลดลงไปด้วย
“ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยว FIT หรือเดินทางด้วยตัวเอง และผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งตัวเลขในช่องทางดังกล่าวเติบโตในทิศทางที่ดี แต่ในตลาดกรุ๊ปทัวร์ที่ผ่านเอเย่นต์ยังไม่กลับมามากนัก” ดร.อดิษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งเป้าภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งที่เป็นกรุ๊ปทัวร์และ FIT เดินทางผ่านบริการของสมาคม ATTA รวมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมาคมเคยทำได้เมื่อก่อนวิกฤตโควิด-19
คาดปีนี้อัดเต็มที่ได้ 37.5 ล้านคน
เช่นเดียวกับ นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย และประธานเครือข่าย Green Alliance กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” โดยภาพรวมของการท่องเที่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนรวม 3.11 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนประมาณ 5% ตลาดที่ชะลอการเดินทางไปมากที่สุดคือ จีน หายไปกว่า 40% โดยมีตลาดยุโรปเข้ามาช่วยพยุงไว้ ทำให้ภาพรวมติดลบไม่มากนัก
โดยคาดว่าหากรัฐบาลไม่ออกแรงหนุนแรง ๆ ปีนี้ประเทศไทยอาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ประมาณ 37.5 ล้านคนเท่านั้น แบ่งเป็นไตรมาสแรกประมาณ 10 ล้านคน ไตรมาส 2 ประมาณ 9 ล้านคน ไตรมาส 3 ประมาณ 8 ล้านคน และไตรมาส 4 ประมาณ 10.5 ล้านคน
“ผมมองว่าในระยะสั้นนี้กระแสเรื่องความปลอดภัยยังมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์จีน และคอร์ปอเรตที่ชะลอการเดินทางเข้าไทย” นายกิตติกล่าวและว่า ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบระยะยาว ได้แก่ 1.ประเทศคู่แข่งพัฒนาขึ้นและมีแคมเปญการตลาดเชิงรุก เช่น ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม 2.ข้อจำกัดด้านความพร้อมและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs และเมืองรอง
3.สภาพคล่องของผู้ประกอบการ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาสินค้า บริการ มาตรฐานได้เพียงพอ และ 4.ความยั่งยืน คือความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ยกระดับสู่มาตรฐาน Sustainable Tourism ทำให้เสียฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มองค์กร
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยบวกให้เป็นความหวังเช่นกัน ประกอบด้วย 1.แนวโน้มการเปิดเส้นทางการบินมากขึ้น และราคาตั๋วเครื่องบินที่เริ่มถูกลงสำหรับตลาดอินบาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) 2.การเปิดฟรีวีซ่า ทำให้เกิดการเติบโตของกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น ซาอุดีอาระเบีย คาซัคสถาน ไต้หวัน และยุโรปตะวันออก
3.เทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกระแสความนิยม Mindfulness ทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปมาเที่ยวไทยมากขึ้น 4.การจัดอีเวนต์ใหญ่ ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง วิจิตรเจ้าพระยา ที่มีการประกาศล่วงหน้า เริ่มเข้าสู่ปฏิทินการท่องเที่ยวโลก ทำให้มียอดจองล่วงหน้าอย่างชัดเจน 5.กระแสภาพยนตร์และซีรีส์ต่าง ๆ ที่ถ่ายทำในไทยจำนวนมาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น Jurassic World/The White Lotus เริ่มออกฉายในปีนี้ ทำให้เกิดกระแสเที่ยวตามรอยหนัง
6.กลุ่ม LGBTQ มีกระแสความสนใจในการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น หลังมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และ 7.กลุ่ม Gastronomy ท่องเที่ยวชิมอาหาร คาเฟ่ ร้านเบเกอรี่เติบโตสูงมาก และมีการใช้สื่อโซเชียลและอินฟลูเอนเซอร์อย่างได้ผล
2 เดือนแรก นทท. 6.8 ล้านคน
รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2568 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมรวม 6,828,547 คน เพิ่มขึ้น 8.83% สร้างรายได้สะสม 333,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.64% โดยนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน 1,034,321 คน ตามด้วย มาเลเซีย 861,060 คน รัสเซีย 486,520 คน เกาหลีใต้ 377,155 คน และอินเดีย 355,797 คน
ส่วนอันดับ 6-9 เป็นตลาดระยะไกล (Long-haul) ได้แก่ ฝรั่งเศส 239,145 คน สหราชอาณาจักร (UK) 228,848 คน เยอรมัน 226,966 คน สหรัฐอเมริกา (USA) 220,580 คน
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการเก็บตัวเลขล่าสุดเบื้องต้นพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-2 มีนาคม 2568 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสม 7.02 ล้านคน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาสะสมแล้วกว่า 1 ล้านคน โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม และการสิ้นสุดการท่องเที่ยวฤดูหนาว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอตัวด้านการเดินทางในทุกกลุ่มตลาด
นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short-haul) เดินทางเข้ามาลดลง 15.68% จากสัปดาห์ก่อนหน้าจากการลดลงของตลาดมุสลิม อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ในขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long-haul) เดินทางเข้ามาลดลง 7.67% จากการสิ้นสุดช่วงเวลาการท่องเที่ยวฤดูหนาว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวตลาดภูมิภาคยุโรปและอเมริกาลดลง
รวมถึงตลาดภูมิภาคตะวันออกกลางที่เข้าสู่เทศกาลถือศีลอดเช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมในสัปดาห์ล่าสุด (24 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2568) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 668,940 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 94,413 คน หรือ 12.37% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 95,563 คน
โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ มาเลเซีย 70,547 คน จีน 64,687 คน รัสเซีย 55,454 คน อินเดีย 41,962 คน และเกาหลีใต้ 40,945 คน โดยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ลดลง 25.47% อินเดีย ลดลง 16.27% จีน ลดลง 10.30% รัสเซีย ลดลง 4.72% และเกาหลีใต้ ลดลง 2.69
เดือน ก.พ. จีนร่วงหนัก 45%
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากจำแนกรายเดือนพบว่า เดือนมกราคม 2569 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3,709,102 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,035,296 คน หรือเพิ่มขึ้น 22.2% เดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวน 3,119,445 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,352,302 คน หรือลดลงประมาณ 7.5%
และหากดูเฉพาะตลาดจีน พบว่าเดือนมกราคม 2568 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 662,779 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนประมาณ 30% เดือนกุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยว 371,542 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 45% โดยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือน มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย 9,782 คน
ทั้งนี้ เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนของปี 2568 อยู่ในช่วงวันที่ 24 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ ขณะที่เทศกาลตรุษจีนของปี 2567 อยู่ในช่วงวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม หากรวม 2 เดือนแรกในปี 2568 พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนรวม 1,034,321 คน ต่ำกว่า 2 เดือนแรกของปี 2567 ที่มีจำนวน 1,183,121 คน หรือประมาณ 14.3%
อ่านข่าวต้นฉบับ:
“ทัวริสต์จีน”ผวาไม่ปลอดภัย ก.พ.มาเที่ยวไทยหาย 45% ลุ้นยอดในประเทศ