ปัจจุบันสถานะของ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ไม่ต่างกับ “มนุษย์” ที่เป็นเชลฟ์สินค้าสร้างยอดขายได้อีกทาง ดูจะเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากข้อมูล MI LEARN LAB โดยบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป ระบุว่า มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อออนไลน์ปี 2568 จะอยู่ที่ 38,938 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นเม็ดเงินสำหรับการใช้อินฟลูเอนเซอร์ คือ 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 11,601.4 ล้านบาท
ความนิยมในการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในหมู่นักการตลาด และแบรนด์ที่มากขึ้น ยังทำให้ปีนี้จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในไทย แนวโน้มมีมากขึ้นถึง 3 ล้านราย ซึ่งการเติบโตหลักมาจากกลุ่มนาโน และไมโคร ที่มีผู้ติดตามหลักพันถึงหมื่นคน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของไทยเติบโต และมีหน้าใหม่เดบิวต์เข้าสู่สนามอย่างต่อเนื่อง คือ เทรนด์ “วิดีโอสั้น” ที่ใคร ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ง่าย ความเป็นธรรมชาติของคอนเทนต์คือ แรงหนุนทำให้เกิดกระแสไวรัล และปั้นผู้ใช้ทั่วไปให้กลายเป็น“ดาว” ในชั่วข้ามคืน
ซึ่งไม่ใช่แค่ “คน” แต่ยังรวมถึง “สัตว์” ที่กลายเป็น “Petfluencer” ชื่อดัง ค่าตัวหลายหลัก และสร้างรายได้ให้เจ้าของมูลค่าอย่างมหาศาล
ฉายภาพตลาดอินฟลูฯปี’68
“สุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจ้างงานอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีฐานอินฟลูเอนเซอร์กว่า 85,000 คน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เม็ดเงินที่แบรนด์ใช้กับการโปรโมตผ่านอินฟลูเอนเซอร์ในปีนี้ไม่ได้น้อยกว่าปีที่แล้ว
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดมาก ๆ คือ แบรนด์ระมัดระวังกับการใช้เงินมากขึ้น รวมถึงการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่จะมาร่วมงานก็พิถีพิถันมาก ๆ
“สาเหตุที่แบรนด์เข้มข้นในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ มาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีเรื่องความเชื่อมั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะปีที่ผ่านมามีเคสที่คนสวมรอยเป็นอินฟลูเอนเซอร์ทำเรื่องไม่ดี กระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการ”
ส่วนทิศทางการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ของแบรนด์ในปีนี้ “สุวิตา” ย้ำว่า ในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง เริ่มเห็นการ “ผูกปิ่นโต” หรือทำสัญญาระยะยาวกับอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำงานร่วมกัน จากเมื่อก่อนจะเน้นทำงานเป็นโปรเจ็กต์มากกว่า
อีกมูฟเมนต์ที่เริ่มเห็นมากขึ้นคือ การใช้โมเดล “Friend of …” หรือการแต่งตั้งกลุ่มดาราที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือตัวชูโรงหลักของแคมเปญ แล้วค่อยต่อ Funnel หรือช่องทางการทำตลาดมาที่กลุ่ม Micro Influencers จำนวนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
“การที่แบรนด์เริ่มทำสัญญาระยะยาวและกักตุนอินฟลูเอนเซอร์ไว้กับตนเอง เป็นสัญญาณที่บอกว่า แบรนด์มีความเข้าใจในเรื่องการใช้อินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ทั้งยังสะท้อนภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้นด้วย”
แบรนด์สร้างเอ็นเกจเมนต์
“สุวิตา” กล่าวต่อว่า ถ้าเจาะไปที่แบรนด์อาหารสัตว์โดยตรง จะเห็นว่าแบรนด์ใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์ และสื่อสารจุดเด่นของแบรนด์ อาทิ คุณภาพ สรรพคุณ หรือที่มาของวัตถุดิบในการผลิตอาหารเป็นหลัก ไม่ได้เร่งเรื่องการสร้างยอดขาย เพราะแบรนด์เชื่อว่า ลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ต้องสรรหาของดีให้ลูก ๆ ของตนอยู่แล้ว
ในมุม Tellscore ที่ทำงานร่วมกับลูกค้าก็เห็นแนวโน้มการเติบโตของเทรนด์ Pet Parents เพราะยุคนี้เป็นยุคของ “Pets are new Kids” ที่คนเลี้ยงสัตว์เป็นลูกไปแล้ว
“การเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงก็เป็นแรงส่งให้เกิดอินฟลูเอนเซอร์สายสัตว์เลี้ยงหน้าใหม่ ๆ เพราะบางแบรนด์ต้องการอินฟลูเอนเซอร์ที่มีสัตว์เลี้ยงลักษณะเฉพาะ เช่น น้อง ๆ ร่างท้วม ซึ่งบ้านที่ทำคอนเทนต์อยู่แล้วอาจมีน้องไม่ตรงตามแบรนด์ต้องการ เราก็ต้องไปคุยกับคนที่เลี้ยงสัตว์แล้วถ่ายรูปลงโซเชียลทั่วไปแทน บางครั้งแบรนด์ชอบกลุ่มนี้มาก ถึงกับทำสัญญาระยะยาวเพื่อโปรโมตสินค้าเลยก็มี”
ความฮอตของ “นปโปะ”
“พนธกร โชคคุ้มแก้วถาวร” เจ้าของ “นปโปะ” สุนัขคอร์กี้ ที่เป็น Petfluencer และไวรัลจากเพลง “นปโปะหม่ำ ๆ” มีผู้ติดตามบน TikTok มากกว่า 3 แสนคน เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า หลังจากเพลงเป็นที่รู้จัก คอนเทนต์ในช่อง @staywithnoppo ก็มีคนมาดูมากขึ้น เป็นฐานแฟนคลับที่ชื่นชอบความน่ารักของนปโปะ
ส่วนฝั่งของแบรนด์ก็เริ่มติดต่อมาให้รีวิวสินค้า มีทั้งกลุ่มที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อาทิ สุขภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือประกัน ซึ่งกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% เพราะคอนเทนต์บ้านนปโปะ ไม่ได้มีแค่นปโปะที่เป็นพระเอก แต่มีความเป็น “ครอบครัว” และการใช้ชีวิตรวมอยู่ด้วย หรืออย่างกลุ่มอาหารสัตว์ก็มีแบรนด์ที่ทำสัญญาระยะยาวกันไว้
“ช่วง 3-4 เดือนแรกหลังจากเพลงเป็นกระแส ได้ทำงานร่วมกับแบรนด์เยอะมาก บางวันมีตารางงานที่ต้องจัดการเกี่ยวกับการรีวิวสินค้าถึง 7 แบรนด์ เช่น คุยบรีฟกับแบรนด์นี้ ส่งดราฟต์ให้กับแบรนด์นั้น หรืองานอีเวนต์ต่าง ๆ นปโปะก็มีคิวโชว์ตัวแทบทุกวันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”
หลัง “นปโปะ” เริ่มรู้จักบนโลกโซเชียลช่วงกลางปี 2567 “พนธกร” ก็ลาออกจากงานประจำ แล้วผันตัวเป็น Full-Time Influencer เพื่อทุ่มเทให้กับการทำคอนเทนต์
หัวใจสำคัญที่จะทำให้ “นปโปะ” ครองใจคนคือ ความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ทิ้งซิกเนเจอร์ของช่อง ทำให้คนจดจำสิ่งเกี่ยวข้อง ต้องยอมรับว่าสัตว์เลี้ยงหน้าตาเหมือนกันหมด คนจะรู้ว่า น้องเป็นหรือไม่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ก็ต่อเมื่อมีเจ้าของเดินมาด้วยเท่านั้น
“เป้าหมายอยากทำให้นปโปะเป็น ‘นัมเบอร์วัน’ เมื่อคนนึกถึงสุนัขพันธุ์คอร์กี้”
อินฟลูฯหนุนแบรนด์โต
“ศิริสุภา อาจสัญจร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บมจ.นีโอ คอร์ปอเรท เจ้าของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง LovliTails (เลิฟลี่เทล) เสริมว่า เทรนด์ Pet Parents ทำให้ธุรกิจนี้โตขึ้นถึง 12%
แบ่งเป็นตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง 4.46 หมื่นล้านบาท, ตลาดบริการรักษาพยาบาลสัตว์ 6.6 พันล้านบาท, ตลาดอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง 2.29 หมื่นล้านบาท และตลาดบริการดูแลสัตว์เลี้ยง 700 ล้านบาท ครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 41,100 บาทต่อตัวต่อปี
พฤติกรรมที่คนหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นลูก มีทั้ง Gen Y และ Gen Z ที่เลี้ยงแก้เหงา กลุ่มวัยเกษียณเลี้ยงเป็นเพื่อน หรือดูแลจิตใจ อีกกลุ่มยินดีจ่ายคือ อินฟลูเอนเซอร์ เพราะสัตว์เหล่านี้ช่วยสร้างรายได้ให้
อ่านข่าวต้นฉบับ: นปโปะ อินฟลูสี่ขา นำทัพครีเอเตอร์ ‘สัตว์เลี้ยง’ ดูดเงินหมื่นล้าน