สภาผู้บริโภค เสนอชะลอประมูลคลื่นความถี่ ทบทวนเกณฑ์ประมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ชี้ คัดเลือกคลื่นเป็นความถี่กลางแห่งชาติ จัดสรรให้ NT ดูแล
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีเสวนา “กสทช. กับการประมูลคลื่นความถี่ และผลประโยชน์ของประชาชน” ตัวแทนจากภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้แทนรัฐวิสาหกิจได้ร่วมกันสะท้อนความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายนนี้
โดยสาระสำคัญ คือ ชี้ให้เห็นว่าในการยื่นซองขอประมูลเมื่อ 29 พ.ค. ที่ผ่านมามีเพียงเอกชนสองราย คือ AIS และ true ที่ต่องการเข้าประมูลเฉพาะคลื่นที่ตัวเองมีอุปกรณ์และโครงข่ายอยู่แล้ว คือ 2100 MHz ของ AIS และ 2300 MHz ของ true ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมผูกขาดเรียบร้อยแล้ว
และในวงเสวนา ยังมีการเสนอให้ชะลอการประมูลเพื่อให้มีเอกชนรายใหม่ หรือไม่ก็ให้มีการจัดสรรคลื่นบางส่วนเป็น “ความถี่กลางแห่งชาติ” ที่รองรับบริการสาธารณะและให้มีราคาที่ถูกประหยัด
ภายในงานเสวนายังมีตัวแทนจาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ซึ่งมองว่าคำว่า NT เป็นโทรคมนาคม “แห่งชาติ” เป้าประสงค์ของการควบรวม CAT และ TOT เป็นไปเพื่อให้มีการบริการโทรคมนาคมแก่สาธารณะด้วย ดังนั้น หากจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่กลางแห่งชาติ ควรให้ NT เป็นคนดูแล
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง กสทช. มีเป้าหมายเพื่อดึงคลื่นความถี่จากภาครัฐมาเข้าสู่ระบบใบอนุญาตแทนระบบสัมปทาน และเปิดให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างโปร่งใส แต่ในความเป็นจริง กลับเกิดการกระจุกตัวของตลาดอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีผู้เล่นหลากหลายหลังการประมูล 3G กลับเหลือเพียงสองรายหลักที่ครอบครองคลื่นความถี่หลักของประเทศ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่คลื่นเพื่อกิจการสาธารณะ และทำลายหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เคยเป็นหัวใจของการจัดสรรคลื่น
ในขณะที่ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ อนุกรรมการด้านการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช. อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้วิเคราะห์ภาพรวมโครงสร้างการถือครองคลื่นความถี่ในปัจจุบันว่า การแข่งขันในตลาดแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการรายใหม่ถูกกันออกจากระบบด้วยเงื่อนไขที่สูงเกินจริง เช่น การกำหนดให้ครอบคลุมทุกตำบลถึง 50% ภายในสองปี ทำให้เกิดสภาพตลาดโทรคมนาคมที่เอื้อต่อผู้เล่นรายเดิมเป็นหลัก
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากตารางการถือครองคลื่นพบว่าเอไอเอส และทรู ถือครองทั้งคลื่นย่านความถี่ต่ำ (700-900 เมกะเฮิรตซ์), คลื่นย่านความถี่กลาง (1800-2600 เมกะเฮิรตซ์) และคลื่นย่านความถี่สูง (26 จิกะเฮิรตซ์) อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่เอ็นที ที่แม้จะมีคลื่นบางส่วนในย่าน 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ แต่ยังขาดแคลนโครงข่ายและทุนสนับสนุนในการแข่งขัน
ดร.สุพจน์ ตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดราคาคลื่นความถี่ของ กสทช. ในหลายช่วงไม่สอดคล้องกับข้อมูลต้นทุนหรือความเป็นจริงของตลาด
“โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับราคาการประมูลในต่างประเทศ หรือการพยากรณ์แนวโน้มการใช้ประโยชน์ในอนาคตที่ควรจะสูงขึ้น ขณะที่ความล้มเหลวของเทคโนโลยี 5G ที่ยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างชัดเจนจาก 4G ในชีวิตประจำวัน ยิ่งตอกย้ำว่าการประมูลที่ไม่มีการแข่งขันจะไม่สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง พร้อมเสนอให้เอ็นที ปรับบทบาทเป็นผู้ให้บริการพื้นฐานของรัฐ เพื่อคานอำนาจเอกชนและรับผิดชอบโครงสร้างความมั่นคงทางดิจิทัล” ดร.สุพจน์ อธิบาย
ในด้านนโยบาย เขาเสนอว่า กสทช. ควรจัดสรรคลื่นกลางบางส่วนเพื่อสาธารณะ เป็นลักษณะเครือข่ายส่วนตัว (Private Network) หรือเครือข่ายเฉพาะที่ (Local Network) ให้ใช้ได้โดยไม่ต้องประมูล เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งกันคลื่นบางส่วนไว้ให้หน่วยงานรัฐ โรงงาน และชุมชนใช้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งผู้ให้บริการเอกชนทั้งหมด พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มบทบาทการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ทั้งในด้านราคา คุณภาพ และการตรวจสอบระบบไอทีของผู้ให้บริการ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับระบบการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดเชิงโครงสร้างที่ประชาชนไม่มีทางเลือกและรัฐไม่มีอำนาจควบคุม
ด้านนายเชิดชัย กิตติศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ แสดงความกังวลต่อกระบวนการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า หากปล่อยให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที (NT) หลุดออกจากตลาด จะส่งผลให้โครงสร้างผู้ให้บริการโทรคมนาคมเหลือเพียงสองรายหลัก ถือเป็นภาวะผูกขาดสมบูรณ์ที่กระทบต่อทั้งประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม แม้เอ็นทีจะมีคลื่นความถี่ในครอบครอง แต่ขาดโครงข่ายหลักและการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านคุณภาพและราคากับผู้ให้บริการรายใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดบรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตบ้าน) และบริการเคลื่อนที่ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน สะท้อนว่าความอยู่รอดของเอ็นที อยู่ในภาวะวิกฤต หากเกิดการซื้อกิจการลูกค้าจากเอกชนจนหมด จะเท่ากับว่าเอ็นทีพ้นสถานะผู้ให้บริการโดยสมบูรณ์ และประชาชนจะไม่มีทางเลือกอื่นในตลาดอีกต่อไป
“การจัดสรรคลื่นควรคำนึงถึงความหลากหลายในตลาด และป้องกันไม่ให้กลไกตลาดถูกผูกขาดโดยเอกชน โดยเรียกร้องให้ กสทช. กำกับดูแลด้วยความเป็นธรรม สร้างโครงสร้างราคาที่ตรวจสอบได้ และกันคลื่นย่านกลางไว้ใช้เพื่อสาธารณะ ไม่ใช่ส่งมอบทรัพยากรของชาติเข้าสู่มือกลุ่มทุนเพียงไม่กี่ราย” เชิดชัยระบุ
พร้อมเสนอให้ภาครัฐพิจารณาใช้โมเดลสัมปทาน เพื่อให้เอ็นทีสามารถทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของชาติ โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการประมูลเชิงพาณิชย์ ทั้งยังอ้างอิงถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เคยเห็นชอบให้เอ็นทีเป็นหน่วยงานดำเนินการด้านโครงข่ายเพื่อความมั่นคงในช่วงควบรวมกิจการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง