ฝุ่นตลบคิกออฟปรับคณะรัฐมนตรี “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ยังไม่เปิดเจรจาเก้าอี้ ภาคธุรกิจเอกชนจับตาโฉมหน้า ครม.ใหม่ ส.อ.ท.ปักธงต้องการคนมีฝีมือรู้จริง เดินนโยบายเชิงรุก ATTA เผยรัฐมนตรีท่องเที่ยวเปลี่ยนตัวบ่อย กระทบนโยบายขาดความต่อเนื่อง กระทุ้งเร่งมาตรการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับ ขอแบ่งงบฯ 1.57 แสนล้านมาช่วยอีกทาง เจ้าสัวสหพัฒน์ส่งเสียงถึงรัฐบาล จัดการเจรจาสงครามการค้าฝ่าเศรษฐกิจถดถอย พ่อค้าภูธรดันแก้ปัญหาเดิม สินค้าเกษตรราคาตก ถูกสวมสิทธิส่งออก
การเมืองฝุ่นตลบปรับ ครม.
ความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ว่า พิจารณาปรับ ครม.อยู่ในใจ แต่ยังไม่ส่งสัญญาณถึงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล สอดรับกับก่อนหน้านี้ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาส่งสัญญาณว่าจะขอกระทรวงมหาดไทยคืนจากพรรคภูมิใจไทย
ทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวการปรับ ครม.อย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะขอกระทรวงมหาดไทยคืน โดยให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปนั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ส่งคืนมหาดไทยแลกเก้าอี้ใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ยังมีข่าวหลายกระแส ระบุว่านายอนุทินจะไปคุมกระทรวงศึกษาธิการ แทน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ รวมถึงการที่พรรคภูมิใจไทย พยายามต่อรองแลกกระทรวงที่สมน้ำสมเนื้อหากพรรคเพื่อไทยต้องการกระทรวงมหาดไทยคืน
รายงานข่าวระบุว่า พรรคภูมิใจไทยยืนยันจุดยืนให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะในรูปแบบเซตซีโร่ คือ เจรจาโควตากับพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ทั้งหมด โดยหากพรรคเพื่อไทยต้องการกระทรวงมหาดไทย ก็จำเป็นต้องนำกระทรวงที่อยู่ในระดับเดียวกันมาแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงที่ตกเป็นข่าว คือ กระทรวงพลังงาน
ขรก.จับตาความเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ความเคลื่อนไหวภายในกระทรวงมหาดไทย ภายหลังเกิดกระแสข่าวที่พรรคเพื่อไทยขอกระทรวงมหาดไทยคืน ปรากฏว่าข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง จับตารอดูท่าทีทางการเมืองว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเพิ่งมีการสลับโยกย้ายตำแหน่งภายใน ระดับผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการฝ่าย ไปจนถึงตำแหน่งระดับสูง อย่างผู้ช่วยปลัดกระทรวง
ทำให้ข้าราชการต่างดูทิศทางลมทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ เพราะหากพรรคเพื่อไทยคุมกระทรวงมหาดไทย จะต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 2 ตำแหน่งด้วย คือ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย และ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย
ภท.โยนเผือกนายกฯตัดสินใจ
นายอนุทินกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ว่า ยังไม่มีการคุย ยังไม่มีการติดต่อ ไม่มีการเกริ่นนำใด ๆ ทั้งสิ้น พบท่านนายกฯเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้คุยอะไร คุยแต่เรื่องงาน มาแสวงหาความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ มีเรื่องที่ควรจะคุยและเป็นประโยชน์กับประชาชน ต่อประเทศไทยตั้งเยอะแยะ ทุกคนก็มาทำงานกัน เป็นประโยชน์ และเป็นศักดิ์ศรีของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องระบบการเตือนภัย เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคิดอะไรกับเรื่องปรับ ครม. ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าทางพรรคภูมิใจไทยพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้ รวมถึงยังไม่ได้พูดคุยกับนายอนุทิน การปรับ ครม.อยากให้ทุกฝ่ายฟังจากนายกรัฐมนตรีเพียงเท่านั้น เรื่องนี้เป็นระบบประชาธิปไตย จึงควรฟังจากนายกฯเพียงคนเดียว อย่าเพิ่งไปตื่นตระหนก
เอกชนขอรัฐมนตรีมืออาชีพ
ส่วนความคิดเห็นภาคเอกชนเกี่ยวกับข่าวการปรับ ครม. นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับ ครม.ชุดใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลง และไม่กระทบกับภาคเศรษฐกิจ เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ที่มาจากคนละขั้ว ท้ายที่สุดเราอยากได้ผู้นำหรือ Regulator ด้านกฎหมายที่ดีขึ้น
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้นความคาดหวังของภาคเอกชนสำหรับ ครม.ชุดใหม่ คือ ต้องการคนที่มีความสามารถและเก่งจริง ต้องมีความเป็นมืออาชีพ กล้าชนทุกปัญหาและทำเพื่อประเทศอย่างแท้จริง
สำหรับความคาดหวังในส่วนของกระทรวงพลังงานนั้น มองว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ รัฐมนตรีจำเป็นต้องมีการประสานงานร่วมกับ
ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับต้นทางและปลายทาง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นต้นทางของพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ จึงอยากได้รัฐมนตรีนอกจากจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความรู้ด้านกฎหมายแล้ว แต่จะต้องมีศักยภาพและมีความเข้าใจภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
จี้ลดค่าไฟสร้างความเชื่อมั่น
นายอิศเรศกล่าวอีกว่า ความกังวลในตอนนี้ คือ รัฐมนตรีจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายเชิงรุกมากกว่าที่จะแก้ไขไปทีละเรื่อง เพื่อดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เช่น นักลงทุนอยากได้ความมั่นใจในเรื่องของค่าไฟว่าจะสามารถลดลงได้ถึง 3.70 บาทต่อหน่วย ด้วยวิธีการใดบ้าง ส่วนในระยะยาวจะสามารถเหลือ 3.00 บาทต่อหน่วยได้อย่างไร
ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าในอนาคตที่คาดว่าจะมีโอกาสต่ำกว่างวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 2568) ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย ปัจจัยจากราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับลดลงสวนทางกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นการมองที่ปัจจัยภายนอก แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง เช่น การเจรจาพูดคุยกับเอกชนในการปรับสัญญา Adder, พิจารณาปรับลดค่าพร้อมจ่าย (AP) ให้เหมาะสม ต้องแก้ไขจากต้นเหตุ และสามารถทำให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า หากมีการปรับ ครม. อยากให้ ครม.ชุดใหม่นี้เป็นความหวังของคนทั้งประเทศ และมีบทขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านพ้นภาวะวิกฤต และไปสู่อนาคตได้
ท่องเที่ยวต้องการความต่อเนื่อง
ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวถึงกรณีการปรับ ครม.ว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมองว่าทุกภาคส่วนต้องการความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย จึงมอง 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ 1.รัฐบาลไม่ควรเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อีกแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกระทรวงที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยมาก ทำให้ขาดความต่อเนื่อง
2.ขอให้รัฐบาลเดินหน้าฟื้นตลาดนักท่องเที่ยวจีน และตลาดภาษาจีน (Chinese-Speaking) ตามแผนที่ภาคเอกชนนำเสนอไปแล้ว และ 3.ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจากงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 ล้านบาท มากระตุ้น
การท่องเที่ยวตามแผนระยะเร่งด่วนมูลค่า 3,200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างรอพิจารณาอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. ประกอบด้วยโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง โครงการสนับสนุนสายการบิน และสนับสนุน OTA ทั้งนี้เนื่องจากท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ตอนนี้ทิศทางการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวกำลังเดินไปในทิศทางที่ดี และมีความต่อเนื่อง เข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนตัวผู้นำส่งผลกระทบต่อนโยบาย” ดร.อดิษฐ์กล่าว
เจ้าสัวสหพัฒน์ห่วงเศรษฐกิจ
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ให้ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลและภาคธุรกิจในการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจและสงครามการค้าว่า ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนในปัจจุบันนั้น ไทยควรวางโพซิชั่นเป็นกลาง ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน ซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันในช่วงที่เศรษฐกิจไทยถดถอย เหมือนเปลี่ยนจากรถยนต์เป็นรถสามล้อนี้ ต้องเร่งกระตุ้นความเชื่อมั่นและการลงทุน โดยระยะสั้นต้องเน้นสร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน รวมถึงอาจพลิกสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ราคาข้าวพุ่งสูงในญี่ปุ่น อาจเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งข้าวเข้าไปขายในญี่ปุ่น เป็นต้น
จี้รัฐเร่งลงทุนโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่
ระยะยาวต้องลงทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออกให้กับประเทศ อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษแนวเดียวกับอีอีซีในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภาคใต้ รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์ และการขุดคอคอดกระ ซึ่งตอบโจทย์การค้าระหว่างประเทศอย่างการขนส่งสินค้าจากอีอีซีไปยังยุโรปโดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย และรองรับปริมาณการเดินเรือส่งสินค้าจากจีนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องไปพร้อมกัน รวมไปถึงพัฒนาประเทศให้เป็นเดสติเนชั่นที่ชาวต่างชาติไม่เพียงมาท่องเที่ยว แต่อยากมาอาศัยอยู่ระยะยาว เช่น เพิ่มศักยภาพด้านการดูแลผู้สูงวัย
ส่วนของแนวทางของเครือสหพัฒน์ นายบุณยสิทธิ์กล่าวว่า ปรับตัวเช่นกัน โดยปรับสัดส่วนธุรกิจในพอร์ต ชะลอธุรกิจแฟชั่น หันเน้นธุรกิจอาหาร, สุขภาพคน-สัตว์เลี้ยงและอสังหาฯ รวมถึงลดการลงทุนโครงการต่าง ๆ ด้วยตนเอง แต่เน้นผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศแทน
ภูมิภาคขอคนชัดเจน-รวดเร็ว
นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผู้ส่งออกผลไม้ไทย จ.จันทบุรี กล่าวว่า อยากเห็นรัฐบาลที่เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาด้านการเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรของไทย เพราะยังมีปัญหาเดิม ๆ ที่วนเวียนซ้ำ ๆ อยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ทุเรียนไทยถูกสวมสิทธิ ทุเรียนหนอนเจาะภาคใต้ที่ต้องตรวจจับเพื่อรักษาคุณภาพทุเรียนไทยและรักษาตลาดไว้ ปัญหาลำไยที่ต้องมีขั้นตอนการดูแลเกษตรกรอย่างชัดเจน มีการช่วยเหลือเกษตรกร การตั้งราคาที่ซื้อขายจริง ๆ การตั้งจุดรับซื้อให้เกษตรกรที่ระบายผลผลิต รวมทั้งการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น หอม กระเทียม พืชไร่ ที่บางประเทศรัฐบาลให้การสนับสนุน ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า รัฐบาลต้องควบคุมสินค้าเกษตรที่นำเข้า เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรของไทย
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง จ.อุดรธานี กล่าวว่า อยากได้รัฐมนตรีที่เป็นคนมีความชัดเจนในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ รวดเร็ว ฉับไว เข้าใจปัญหา แก้ปัญหาให้ถูกทาง แก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว และจริงจัง และอย่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน คิดแล้วทำเลย อย่าไปคิดอะไรที่ยังทำไม่ได้ อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามนิสสัน เชียงใหม่ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับ ครม.ชุดใหม่ ควรเน้นคนที่มีความสามารถไปอยู่ในจุดที่ถูกต้อง เพราะถ้านำคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถจริงมาทำงาน ก็จะทำให้การดำเนินนโยบายและการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือภาษาในเชิงธุรกิจที่ว่า Put the right man on the right job” คือ “ใช้คนให้ถูกกับงาน” หรือ “เลือกคนให้เหมาะสมกับงาน” ดังนั้นการให้ตำแหน่งไม่ควรมาจากความเกรงใจในการเป็นพรรคร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันต้องการคนที่เป็นมืออาชีพ
สงขลาหวังมีเสถียรภาพ
นายวรัชญ์ ปริสุทธิ์กุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เชื่อว่าภาคเอกชนและผู้ประกอบการธุรกิจทุกขนาดอยากเห็นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ และมีภาวะเศรษฐกิจที่มั่นคง เพราะเราเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนของนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลกที่ผันผวนมากอยู่แล้ว
สำหรับกระแสข่าวที่รัฐบาลจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ภาพรวมของผู้ประกอบการธุรกิจการค้า ประชาชนต่างมีความต้องการโฉมหน้า ครม.ที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือ
โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจมีความสำคัญและจำเป็นมาก ขณะเดียวกันคุณสมบัติส่วนอื่น ๆ อาทิ เรื่องภาพลักษณ์ ความซื่อสัตย์ ความเป็นอินเตอร์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ขอให้มีความสามารถในเรื่องการค้าและธุรกิจจะดีมาก
ให้ความสำคัญ กระทรวง ศก.
ส่วนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่จะมาใหม่ จะมีกี่กระทรวง ใครบ้างนั้น เอกชนไม่รู้เลย เห็นแต่ข่าวเจ้ากระทรวงมหาดไทยตามโควตาของแต่ละพรรคการเมืองที่เคยเจรจากันก่อนมีการตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ต่างมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อยากให้เร่งเครื่องในระดับนโยบาย และแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ตรงจุด
“ใช้ความเชี่ยวชาญมาบริหารจัดการ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังนั้น จะต้องหารือกันหนัก และได้ข้อสรุปของนโยบายการเงินการคลัง งบประมาณ สถาบันสำคัญ ๆ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมจูนกับต่างชาติ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุนต่างชาติ
นายวรัชญ์เสริมว่า ที่ต้องการเร่งด่วน คือ โครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพราะเศรษฐกิจซึมลึกมาก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาล ส่วนเอกชนช่วยตัวเองอยู่แล้ว
อ่านข่าวต้นฉบับ: ภาคธุรกิจจับตาปรับครม. ‘สหพัฒน์’ จี้เร่งลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ