ย้อนรอยธุรกิจ ‘ส่งด่วน’ ของถึงบ้าน ‘Same Day’ ค่าส่งถูกไม่เกรงใจใคร

ย้อนรอยธุรกิจ ‘ส่งด่วน’ ของถึงบ้าน ‘Same Day’ ค่าส่งถูกไม่เกรงใจใคร


ความร้อนแรงของซีรีส์ Netflix Original “สงครามส่งด่วน” (Mad Unicorn) ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ “ยูนิคอร์น” (สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท) ตัวแรกในไทย ได้ปลุกความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจขนส่งด่วนขึ้นมาอีกครั้ง

หลายคนที่ดูซีรีส์จบแล้วก็พยายามเทียบเคียงแบรนด์ขนส่งในเรื่องกับแบรนด์ในชีวิตจริง พร้อมวิเคราะห์กันอย่างสนุกสนานว่าใครเป็นใครบ้าง

และถ้าดูตามช่วงเวลาในท้องเรื่องที่ตัวละคร “สันติ” ตัดสินใจก่อตั้ง “Thunder Express” จะอยู่ราว ๆ ปี 2560 ช่วงเดียวกับที่สมรภูมิธุรกิจขนส่งของไทยเข้าสู่ช่วงบูมสุดขีด มีผู้เล่นหน้าใหม่ทยอยเข้ามาชิงเค้กจากพี่ใหญ่ “ไปรษณีย์ไทย” มากหน้าหลายตา

น่าสนใจว่า 8 ปีผ่านมา ณ เวลานี้ แลนด์สเคปของธุรกิจส่งด่วนในบ้านเราเปลี่ยนไปแค่ไหน

สแกนธุรกิจส่งด่วน

จากข้อมูลของ “ชิปป๊อป” (SHIPPOP) ผู้ให้บริการรวมขนส่งและโลจิสติกส์ ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนในประเทศไทย ปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ 1.ส่งพัสดุด่วน เช่น ไปรษณีย์ไทย, KEX, Flash, J&T, LEX และ SPX

2.ส่งต่างประเทศ เช่น DHL, Aramex, SF และ FedEx 3.ส่งควบคุมอุณหภูมิ เช่น Fuze Post, NiM และ JWD 4.On-Demand (มอเตอร์ไซค์) เช่น Skootar, Grab และ LINE MAN

สุดท้าย 5.On-Demand (มีรถ 4-6 ล้อ) เช่น deliveree และ LALAMOVE อีกทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีก 2 ส่วน คือ 1.คลังสินค้า (Fulfillment) เช่น MyCloudFulfillment, SCG Logistics และ THPD ของไปรษณีย์ไทย และ 2.ตัวกลางเชื่อมบริการขนส่งจากผู้ให้บริการรายต่าง ๆ เช่น SHIPPOP, My Save และ FASTSHIP

ในแง่การเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม จากข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Mordor Intelligence ประเมินว่า มูลค่าตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยปี 2568 อยู่ที่ 2.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ (9.3 หมื่นล้านบาท) และมีโอกาสเติบโตถึง 4.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.3 แสนล้านบาท) ในปี 2573

ธุรกิจส่งด่วน-SHIPPOP
ภาพจากเว็บไซต์ SHIPPOP

เจ้าไหนกำไร-ขาดทุน

เจาะมาที่กลุ่มผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนจะเห็นว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เล่นแต่ละรายต้องเผชิญกับความท้าทายสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะการฟาดฟันในเกมสงครามราคา ในขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กว่าจะทำกำไรได้ต้องหาที่ทางของตนเอง และปรับกลยุทธ์กันไปหลายรอบ

เมื่อตรวจสอบข้อมูลผลประกอบการของผู้ให้บริการแต่ละรายบน Creden Data พบว่าไปรษณีย์ไทยสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566 ที่ 78 ล้านบาท หลังจากที่ปีก่อนหน้าขาดทุนกว่า 3,046 ล้านบาท ด้าน Flash Express แม้ในปี 2566 จะยังขาดทุน 559 ล้านบาท แต่เห็นแนวโน้มการเติบโตของรายได้ โดยในปี 2566 มีรายได้ 20,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 14,805 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 Flash Express ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้แล้ว โดยมีรายได้รวม 24,728 ล้านบาท กำไรสุทธิ 940 ล้านบาท

ฝั่ง KEX (ชื่อเดิม Kerry) ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ขาดทุนต่อเนื่องปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งปี 2567 ขาดทุนกว่า 5,911 ล้านบาทเลยทีเดียว ส่วน LEX ของ Lazada และ SPX ของ Shopee กอดคอโกยรายได้ และกำไรอู้ฟู่จากงานในระบบบนแพลตฟอร์มของตนเอง โดยปี 2567 LEX มีรายได้ 14,310 ล้านบาท กำไร 1,742 ล้านบาท และ SPX มีรายได้ 23,432 ล้านบาท กำไร 469 ล้านบาท

ย้อนรอย “ส่งด่วน” 10 ปี

“สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SHIPPOP และในฐานะนายกสมาคม Logis Tech ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 10 ปีก่อนยังมีแค่ไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนรายหลัก จากนั้นก็มี KEX (ทำตลาดด้วยชื่อ Kerry) และ NiM Express ที่เน้นให้บริการพื้นที่ภาคเหนือ ตามมาด้วย alphaFAST เน้นกรุงเทพฯและปริมณฑล ชูจุดขายเรื่องบริการรับของถึงบ้าน (Door to Door) แต่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว และ Niko’s Logistics

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แพลตฟอร์มออนดีมานด์ ส่งของภายใน 1-3 ชม. เช่น Skootar และ LALAMOVE เข้ามาทำตลาดพอดี เมื่อมีผู้ให้บริการมากขึ้น ผมจึงเข้ามาทำ SHIPPOP ในปี 2558 เพื่อพัฒนาระบบที่เชื่อมการบริการของแต่ละรายเข้าด้วยกัน และเปิดหน้าร้านรับพัสดุที่ลูกค้าเลือกได้ว่าจะใช้บริการของเจ้าไหน ปัจจุบันมีหน้าร้านกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ จนในปี 2560 จึงมี SCG Express, Flash, BEST และ J&T ทยอยเข้าสู่ตลาด”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจส่งด่วนไม่ได้ทำง่ายขนาดนั้น ถ้าเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจไม่ยากนัก เพราะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปตามที่ต่าง ๆ แต่ในพื้นที่ในต่างจังหวัดจะยาก ต้องอาศัยเครือข่าย รวมถึงปริมาณรถและคนขับที่มีจำนวนมาก

สงครามราคา = ดาบสองคม

“สุทธิเกียรติ” ย้ำว่า “Economy of Scale” คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจส่งด่วน สาเหตุที่ช่วงแรกไม่มีใครทำกำไรได้ เพราะต้องลงทุนเรื่องรถ คน เทคโนโลยี และระบบต่าง ๆ เยอะมาก จากนั้นต้องมาคิดต่อด้วยว่าจะทำอย่างไรให้รถที่ออกไปส่งของ 1 ครั้งคุ้มค่าที่สุด เพราะยิ่งส่งได้เยอะ ต้นทุนการส่งของต่อชิ้น ก็จะยิ่งถูกลงตามไปด้วย

สิ่งที่ทำให้ผู้เล่นหลายรายไม่สามารถรักษา Economy of Scale ของตนเองไว้ได้จนต้องปิดกิจการและออกจากตลาดไป มาจากการเริ่มทำ “สงครามราคา”

“ตอนนั้นสงครามราคาหนักมาก บางเจ้าถึงกับส่งฟรี หรือค่าส่งบาทเดียวก็มี เพราะอยากเร่งทำยอด ขยายฐานลูกค้า สร้างปริมาณการส่งเยอะ ๆ เพื่อไปเจรจากับนักลงทุนต่อ แต่บางเจ้าก็อยู่ไม่ไหว ตัดราคาสู้เจ้าอื่นไม่ได้แล้ว พอคนไม่มาส่งของด้วยปริมาณพัสดุที่ต้องส่งน้อยลง ออกรถ 1 ครั้งก็ไม่คุ้มอีกเลย”

ในยุคนั้นผู้ให้บริการส่งด่วนแต่ละรายยังแข่งกันที่ “ความเร็ว” จะเห็นว่าเน้นทำตลาดด้วยคำว่า “Next Day/Same Day Delivery” ส่งภายในวันนั้น ๆ หรือในวันถัดไปกันเยอะมาก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นการใช้คำว่า “Same Day” ทางการตลาดแล้ว เนื่องจากผู้บริโภคเองก็หันไปใช้การส่งแบบออนดีมานด์ที่ตอบโจทย์มากกว่า

“ตอนนี้ผู้ให้บริการแต่ละรายมีจุดแข็งของตนเองที่ชัดมาก เช่น ไปรษณีย์ไทยเชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่ กรอกข้อมูลผิดก็ส่งถูก Flash ถนัดเรื่องราคาถูก ส่วน J&T เน้นลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ เพราะแค่งานที่ได้จาก TikTok ก็ล้นมือแล้ว ส่วน LEX และ SPX มีงานในระบบของตนเอง”

แรงส่งจาก “อีคอมเมิร์ซ”

ผู้บริหาร SHIPPOP บอกด้วยว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจส่งด่วนเติบโตมาก ๆ คือ ตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความเป็นไปของธุรกิจส่งด่วนจะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ด้วย

จากที่เมื่อก่อนคนนิยมซื้อผ่าน Social Commerce โดยใช้วิธี “ทักแชต” คุยตรงกับร้านค้าแล้วเลือกขนส่งเองได้ ก็เปลี่ยนมาซื้อบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซแทน ซึ่งลูกค้ากับร้านจะเลือกขนส่งเองไม่ได้ เพราะแพลตฟอร์มจะเลือกให้ทั้งหมด

“ถ้าดูตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เทรนด์ติดตะกร้า และการซื้อสินค้าบน TikTok จะเห็นว่ายอดส่งพัสดุผ่าน J&T และ Flash สูงมาก ๆ ขณะที่ KEX ได้งานจากแพลตฟอร์มค่อนข้างน้อยกว่าเมื่อเทียบรายอื่น ๆ ก็ต้องลุ้นกันว่าจะพลิกกลับมาได้อย่างไร”

อ่านข่าวต้นฉบับ: ย้อนรอยธุรกิจ ‘ส่งด่วน’ ของถึงบ้าน ‘Same Day’ ค่าส่งถูกไม่เกรงใจใคร