แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัว “Alipay+ GenAI Cockpit” แพลตฟอร์ม AI-as-a-Service สนับสนุนการสร้างบริการทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วย AI สะท้อน 3 กลยุทธ์ “ปลอดภัย-เชี่ยวชาญ-สนับสนุนแพลตฟอร์ม FinAI”
รายงานข่าวจากแอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Ant International) ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงิน เปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัว “Alipay+ GenAI Cockpit” แพลตฟอร์ม AI-as-a-Service (AIaaS) ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการทำงานให้บริษัทฟินเทคและซูเปอร์แอปสามารถสร้างบริการทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วย AI และต่อยอดสู่การเป็น AI-native อย่างเต็มรูปแบบด้วยประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความยืดหยุ่นที่ดียิ่งขึ้น
ผสานการทำงานแบบอัตโนมัติและการจัดการระบบการทำงานเข้ากับบริบทขององค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ครอบคลุมงานสำคัญในฟินเทค ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบการชำระเงิน การเปิดบัญชีลูกค้าใหม่ การตรวจสอบตามข้อกำหนด การตรวจจับการฉ้อโกง การจัดการข้อพิพาท ตลอดจนการประเมินผลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
Alipay+ GenAI Cockpit พัฒนาขึ้นจากความเชี่ยวชาญของแอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนลใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1.บริการเกตเวย์กระเป๋าเงินดิจิทัล (Alipay+) 2.บริการชำระเงินร้านค้า (Antom) 3.บริการบัญชีธุรกิจข้ามพรมแดน (WorldFirst) และ 4.บริการทางการเงินแบบฝังตัว (บริหารจัดการเงินทุน สินเชื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีเครดิต) โดยลูกค้ากลุ่มแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้จะเริ่มนำ Cockpit ไปใช้งานจริงในเดือนมิถุนายน 2568
ทั้งนี้ Alipay+ GenAI Cockpit รวมเครื่องมือเฉพาะสำหรับฟินเทคและฐานความรู้เชิงลึกในอุตสาหกรรม เข้ากับนวัตกรรม AI ที่พร้อมใช้งานทางธุรกิจ สะท้อนถึง 3 ทิศทางหลักของกลยุทธ์ AI ของแอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แก่
1.ความปลอดภัย
แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลงทุนในโซลูชั่นด้านความปลอดภัยของ AI อย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับการโจมตีจากภายนอกที่ใช้ AI รวมถึงขจัดความเสี่ยงภายในจากโมเดล AI เช่น อาการ “หลอน” ของโมเดล (Model Hallucination) หรืออคติ (Bias) โดยใช้กรอบการทำงานที่เรียกว่า AI SHIELD ซึ่งบริหารความเสี่ยงครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ การประมวลผลข้อมูล การฝึกโมเดล ไปจนถึงกระบวนการทำงานจริง (Inferencing)
AI SHIELD มีระบบประเมินความเสี่ยงแบบไดนามิกเรียลไทม์ ที่มีการตรวจจับคำสั่งที่มีเจตนาประสงค์ร้าย (Adversarial Prompts) และการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ โดยอาศัยโมเดลตรวจจับมากกว่า 100 ตัว และพจนานุกรมความเสี่ยงกว่า 600,000 รายการ ปัจจุบันอัตราการสูญเสียจากการฉ้อโกงในบริการชำระเงินของร้านค้าที่ใช้แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนลอยู่ที่ 5% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
2.ความเชี่ยวชาญทางการเงินเชิงลึก
Alipay+ GenAI Cockpit ใช้ประโยชน์จากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) ชั้นนำกว่า 20 รายการ รวมถึง Falcon Time-Series-Transformer FX Model ซึ่งเป็นโมเดลของแอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นการผสานฐานความรู้เฉพาะทางด้านฟินเทค เช่น กฎการโอนเงินของธนาคาร หรือแนวนโยบายการแก้ไขข้อพิพาท เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนาเอเจนต์ฟินเทคที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุดเครื่องมือของ Cockpit รองรับการดึงข้อมูลเสริมเพื่อการสร้างเนื้อหา (Retrieval-Augmented Generation: RAG) การฝึกอบรมโมเดลเพิ่มเติม (Post-Training) การประเมินผล (Evaluation) และการเปรียบเทียบประสิทธิภาพ (Benchmarking) โดยผสานข้อมูลจากชุดข้อมูลทั่วไปเข้ากับชุดข้อมูลมาตรฐานเฉพาะทางในอุตสาหกรรมการเงินซึ่งพัฒนาจากความเชี่ยวชาญของแอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำของโมเดลให้ดียิ่งขึ้น
ส่วน Antom Copilot ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มนี้ ถือเป็นเอเจนต์ AI ตัวแรกของโลกที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ค้าเพิ่มอัตราการเปลี่ยน ผู้เข้าชมให้เป็นผู้ซื้อ (Conversion) โดยลดความซับซ้อนของขั้นตอนการเชื่อมต่อกับช่องทางการชำระเงิน แนะนำช่องทางการชำระเงินที่เหมาะสมที่สุด และจัดการงานทั่วไป เช่น การแก้ไขโค้ด และการกรอกข้อมูลเอกสารสำหรับการลงทะเบียนผู้ค้าแบบอัตโนมัติ รวมถึงช่วยให้ผู้ค้าสามารถกำหนดกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
3.การสนับสนุนแพลตฟอร์ม FinAI แบบครบวงจร
Cockpit นำเสนอเอเจนต์สำเร็จรูปหลากหลายประเภท ครอบคลุมงานทั่วไป เช่น บริการลูกค้า การคัดสรรเนื้อหาสำหรับการทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง และการเขียนโค้ดด้วย AI โดยธุรกิจยังสามารถปรับแต่งเอเจนต์สำหรับสถานการณ์เฉพาะทางมากขึ้น เช่น การให้คำปรึกษาด้านการเดินทาง การขอคืนภาษี การโอนเงินข้ามประเทศ และโปรแกรมสะสมคะแนน ทำให้องค์กรสามารถบริหารเวลาและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ตลาด Model Context Protocol (MCP) ของ Cockpit ยังรองรับเซิร์ฟเวอร์ MCP ชั้นนำที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถสร้างเซิร์ฟเวอร์ MCP ของตนเอง เพื่อรองรับการทำงานของเอเจนต์แบบอัตโนมัติครบวงจร รวมถึงยังรองรับการปรับใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นทั้งในระบบคลาวด์สาธารณะและภายในองค์กร (on-premise) โดยอาศัยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Google Cloud และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกอื่น ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง