วิกฤตสงครามการค้า พลิกโอกาสคลาวด์-GPU as a Services

วิกฤตสงครามการค้า พลิกโอกาสคลาวด์-GPU as a Services

ในงาน Amazon Web Service Summit 2025 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้คนในแวดวงไอที ที่เป็น “พาร์ตเนอร์” กับ AWS มาพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นด้านเทคโนโลยีคลาวด์ และปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ AI โดยมีความท้าทายในเรื่องเกี่ยวกับสงครามการค้า และอัตราภาษี เข้ามาเกี่ยวข้อง

ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

“ลอร่า กริต” รองประธาน วิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิ AWS กล่าวถึงทิศทางของวงการเทคโนโลยีคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ในฐานะที่ AWS เป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ของโลกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในปัจจุบันต้องพึ่งพาการ “หลอมรวม” เทคโนโลยี และบริการหลายด้านไว้ด้วยกัน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

“AWS มีเครือข่ายส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยสายเคเบิลใยแก้วนำแสง กว่า 6 ล้านกิโลเมตร เชื่อมต่อกับ Availability Zones และตำแหน่งที่ตั้ง Edge ทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมายังได้เพิ่มความจุของเครือข่ายขึ้น 80% เพื่อรองรับการถ่ายโอนข้อมูลความหน่วงต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของระบบ”

ในเชิงฮาร์ดแวร์ บริษัทยังมีชิปประมวลผล Graviton รุ่นที่ 4 ซึ่งเร็วกว่า Graviton 3 ถึง 45% สำหรับแอป Java ใช้พลังงานน้อยลง 60% เมื่อเทียบกับอินสแตนซ์ EC2 ทั่วไป

ทั้งยังพัฒนาชิปเฉพาะสำหรับ AI ได้แก่ Inferentia และ Trainium ที่ออกแบบมาเพื่อความเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้มีตัวเลือกการประมวลผลที่หลากหลาย

“AWS มีความร่วมมือกับ NVIDIA เป็นเวลา 14 ปี และใช้ GPU รุ่นใหม่ เช่น Blackwell GB200 รองรับการประมวลผล AI ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับทรัพยากรการประมวลผลที่ใหม่ ล่าสุด ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บริการซอฟต์แวร์ และผู้ให้บริการด้านเอไอ (AWS Bedrock) เราจึงไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการคลาวด์ แต่เป็นผู้เชื่อมโยงในการสร้างสรรค์ทุกสิ่งบนคลาวด์ ผ่าน AI Agents และเครื่องมืออย่าง Amazon Q Developer ที่เขียนโค้ด ตรวจบั๊ก สร้างเอกสาร และทดสอบแอปพลิเคชั่นได้อัตโนมัติ”

สงครามการค้าตัวเร่งใช้คลาวด์

ถามว่าสภาพของการแข่งขัน และสงครามการค้าในปัจจุบันจะส่งผลกระทบในด้านใดบ้างและมากน้อยแค่ไหน “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย AWS อธิบายว่า การลงทุนในประเทศไทยที่มีกรอบ 1.8 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี ได้ประเมินภาพระยะยาวไว้แล้วไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดก็ตาม

“หลังประกาศลงทุนไปเมื่อ 2 ปีก่อน วันนี้มีการ AWS Thailand Region เปิดเต็มรูปแบบ หรือศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ระดับสูง หรือ Hyperscaler ส่งผลให้เราเพิ่มบริการให้ลูกค้าในภูมิภาคได้ดีขึ้น มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับโลก ที่สำคัญรองรับกฎหมายที่ต้องเก็บข้อมูลในประเทศ (Data Residency) พร้อมรองรับองค์กรไทยกว่า 350 แห่งในช่วงเวลาเพียง 112 วัน”

โดยมีบริการหลัก ได้แก่ การประมวลผลระดับสูง EC2 ที่ใช้ชิป NVIDIA Blackwell สำหรับงาน Generative AI หน่วย Storage S3 ที่รองรับ Iceberg สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ด้านเอไอและแมชีนเลิร์นนิ่ง ใช้ผ่านแพลตฟอร์ม Amazon Bedrock ที่รองรับโมเดลชั้นนำระดับโลก และทำ RAG, Multimodal, Graph-based AI ได้ในระบบเดียว

“การตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ ทำให้ประสิทธิภาพ และความหน่วงดีขึ้นแน่นอน รวมถึงเรื่องต้นทุนที่ถูกลง แต่ถูกเท่าไหร่ต้องให้ลูกค้าเป็นคนตอบ ในส่วนของเราได้มีการลดราคาค่าบริการเกือบร้อยครั้งในรอบหลายปีนี้ จึงไม่น่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม”

“วัตสัน” มองว่าสงครามการค้าและการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ หรืออะไรก็ตาม ที่เป็นความไม่แน่นอนทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องการเร่งเปลี่ยนตัวเองไปอยู่บนคลาวด์มากขึ้น เพื่อพิจารณาเรื่องของต้นทุนที่ถูกลง อีกส่วนเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อบริษัทหรือองค์กรต้องการฮาร์ดแวร์ ชิปเซตสำหรับประมวลผลขั้นสูง อย่าง GPU แล้วมีปัญหาด้านการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ต้องไปพึ่งพา GPU as a Service (เช่าใช้จีพียู) ก็อาจไม่ได้ของที่ใหม่ที่สุด เพราะสินค้าเหล่านี้มีการจัดลำดับความสำคัญ

“แต่ AWS มีข้อตกลงกับ NVIDIA ทำให้ได้ชิปที่ใหม่ที่สุด ลูกค้าเราก็จะได้กำลังการประมวลผลที่ดีที่สุดไปด้วย เรื่องความเสี่ยงที่จะจัดหาชิปได้หรือไม่จากสงครามการค้าเป็นความเสี่ยงที่ AWS ต้องรับหน้าที่จัดหาเอง ลูกค้าแค่จ่ายเท่าที่ใช้”

ถามว่าการมีดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ AWS Region ในประเทศไทยเป็นจุดแข็งเหนือคู่แข่งที่สามารถดึงลูกค้าหน้าใหม่ ๆ ให้ย้ายข้อมูลมาใช้ AWS หรือไม่ “วัตสัน” กล่าวว่าขึ้นอยู่กับการประเมินของลูกค้า เพราะมีความซับซ้อน และมีต้นทุนในการย้าย

“แน่นอนว่าเราชูว่าการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยมีประโยชน์ในแง่ของการลดความหน่วงที่จะส่งผลให้ราคาลดลง แต่ขึ้นอยู่กับลูกค้า ส่วนเรื่องความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลในประเทศก็แล้วแต่แต่ละองค์กร เพราะเราช่วยลูกค้าออกแบบวิธีการอยู่บนคลาวด์ได้หมด”

ผนึกพันธมิตร สร้างคน

หนึ่งในคำมั่นที่ AWS ให้ไว้กับประเทศไทย หลังประกาศลงทุน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐคือการสร้างงานกว่า 11,000 ตำแหน่งต่อปี และเพิ่มมูลค่า GDP ประเทศกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีอีกด้วย

สิ่งสำคัญ คือ การเทรนคน โดย AWS ประกาศเปิดตัวโครงการ Skills to Jobs Tech Alliance อย่างเป็นทางการในงาน AWS Summit ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี และทักษะด้านคลาวด์ สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล

โดย Tech Alliance Thailand ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) เพื่อยกระดับการศึกษาด้านเทคโนโลยีและเชื่อมโยงผู้เรียนกับตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานทั่วประเทศ

ทั้งยังสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาไทยปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย โดยใช้แผนที่ทักษะ (Skill Maps) ที่ผ่านการรับรองจากภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่สายงานเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการ

ทั้งยังรวบรวมองค์กรธุรกิจชั้นนำของไทยที่มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ได้แก่ Ascend Money, AXONS, BBTV New Media Co., Ltd., Bitkub, eCloudValley, Gosoft Thailand Co.Ltd, LINE MAN Wongnai, NTT DATA Thailand, PTT GC, SiS Distribution (Thailand) Public Company Limited และ Wisesight โดยผู้ประกอบการเหล่านี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับแผนที่ทักษะและความต้องการการจ้างงาน และจะมีส่วนร่วมกับนักศึกษาโดยตรงผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เชิงประยุกต์ต่าง ๆ

อ่านข่าวต้นฉบับ: วิกฤตสงครามการค้า พลิกโอกาสคลาวด์-GPU as a Services