‘แอปเรียกรถ’ 4.5 หมื่นล้าน แข่งบริการเดือด-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่

‘แอปเรียกรถ’ 4.5 หมื่นล้าน แข่งบริการเดือด-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่


หากนับตั้งแต่ที่ “อูเบอร์” (Uber) และ “แกร็บ” (Grab) เข้ามาบุกตลาดในไทยช่วงปี 2550 ปลาย ๆ ก็ถือว่า “แอปเรียกรถ” (Ride Hailing) แทรกซึมอยู่ในชีวิตของคนไทยมากกว่า 10 ปีแล้ว แม้ช่วงแรกจะเผชิญกับเรื่องข้อกฎหมาย และสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภค แต่วันนี้เริ่มมีการปรับตัวเรียกใช้บริการมากขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลบริษัทวิจัยตลาด Statista ระบุว่า มูลค่าตลาดรวมของปี 2568 อยู่ที่ 1.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.5 หมื่นล้านบาท) และจะขยับขึ้นเป็น 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.9 หมื่นล้านบาท) ในปี 2572

ปัจจุบันมีแอปเรียกรถที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบกทั้งหมด 11 ราย ได้แก่ Grab, Bolt, Hello Phuket Service, Bonku, Asia Cab, AirAsia Super App, inDrive, Maxim, LINE MAN, TADA และ Lalamove แต่ละรายมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่ให้บริการ และการขับเคลื่อนกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง

Grab จับทุกเซ็กเมนต์

“แกร็บ” เป็นรายใหญ่เลือกวางกลยุทธ์แบบครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ระดับไฮเอนด์และนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงจะนิยมใช้ GrabCar Premium และ GrabCar Luxe ซึ่งปี 2567 ยอดใช้บริการของ 2 บริการเติบโตขึ้น 50% ล้อไปกับเทรนด์ตลาดท่องเที่ยวลักเซอรี่ที่มีมูลค่าราว 6.6-7.7 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อปีสูง 8-10%

แกร็บยังมีบริการ GrabExecutive ที่จองรถล่วงหน้า ซึ่งมีให้เลือกหลายรุ่น-ขนาด ราคาเริ่มต้น 2,500 บาท/เที่ยว คนขับต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะทั้งบริการและการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าลักเซอรี่ โดยสวมชุดเครื่องแบบแบรนด์ VATANIKA

“เมธิณี อนวัชกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารคนขับ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ได้เริ่มทดลองให้บริการ GrabExecutive ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับดีใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวลักเซอรี่ กลุ่ม Expat หรือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในไทย และกลุ่มระดับไฮเอนด์ ผู้บริหารและนักธุรกิจ

“ส่วนใหญ่จะใช้บริการ GrabExecutive จองรถล่วงหน้าไปสนามบิน ไปทำธุระกับครอบครัว ไปเจรจาธุรกิจ รวมถึงการร่วมงานอีเวนต์ที่ต้องการเสริมภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ”

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว และคนที่เดินทางบ่อย ๆ ก็มีฟีเจอร์จองรถล่วงหน้า หรือ Advance Booking เพื่อแก้เพนพอยต์เรื่องการหารถไปสนามบิน ล่าสุดมีการอัพเดตให้ผู้ใช้ระบุไฟลต์และเวลาเดินทาง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนขับ โดยทดลองให้บริการแล้วที่สนามบินภูเก็ต แกร็บเปิดให้บริการจุดรับ-ส่งในสนามบินหลัก 4 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่

กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป มีบริการ “SAVER” เป็นทางเลือกในราคาที่เข้าถึงได้ บริการนี้มีเมื่อปีที่ผ่านมา ยอดใช้ GrabCar SAVER โตขึ้น 5 เท่า และ GrabBike SAVER โตขึ้น 4 เท่า

LINE MAN ชูราคาถูก-ปลอดภัย

ส่วน “ไลน์แมน” (LINE MAN) ได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ จาก “LINE MAN Taxi” มาเป็น “LINE MAN RIDE” เพิ่มบริการ 3 ประเภท คือ LINE MAN Eco (รถส่วนบุคคล หรือแท็กซี่) ระบบจะส่งรถที่ใกล้ที่สุดมาให้ LINE MAN Taxi (เฉพาะแท็กซี่) และ LINE MAN Bike (รถมอเตอร์ไซค์)

หลัง LINE MAN RIDE ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกต้นปีที่แล้ว ธุรกิจก็เติบโตในแง่ปริมาณธุรกรรมถึง 60% เทียบกับการใช้งานวันที่ 1 ก.พ.-15 ต.ค. 2566 รวมถึง LINE MAN Bike เติบโตถึง 390% หลังให้บริการช่วงต้นปีที่ผ่านมาเช่นกัน

“ศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์” รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจบริการด้านออนดีมานด์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า LINE MAN RIDE มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “ราคาถูก ปลอดภัย” ค่าบริการถูกกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ราว 10% ทั้งเก็บส่วนแบ่งรายได้ (Commission) กับคนขับเพียง 10% ต่ำสุดในตลาด เพื่อปิดช่องว่างของธุรกิจแอปเรียกรถ ทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น

มีทั้งฟีเจอร์ที่ออกแบบเพื่อการใช้งานตามพฤติกรรมคนไทย เช่น ฟีเจอร์ Toll Selection ให้ผู้ใช้เจาะจงเลือกเส้นทางก่อนเริ่มเดินทาง เช่น จะขึ้นทางด่วนหรือไม่, ใช้ Chat Stickers สื่อสารกับคนขับ ไม่ต้องพิมพ์ข้อความ และจะเปิดให้ชำระเงินผ่าน QR Payment ด้วย ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี โดยปีนี้วางไว้ 15-20 เมือง

“เราเป็นแอปสัญชาติไทยที่เข้าใจคนไทย จึงออกแบบฟีเจอร์ Localize ได้เต็มที่ ต่างจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่ต้องพัฒนาฟีเจอร์แบบ One Size Fit All ทั้งภูมิภาค”

Bolt เพิ่มฟีเจอร์ใหม่

“โบลท์” (Bolt) แพลตฟอร์มสัญชาติเอสโตเนีย เข้ามาให้บริการตั้งแต่ปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ แต่มีมูฟเมนต์ใหม่ ๆ ในปีนี้ โดยเฉพาะการเปิดตัว 2 ฟีเจอร์ใหม่ ได้แก่

1.ผู้ติดต่อฉุกเฉิน (Trusted Contacts) ผู้โดยสารและคนขับสามารถเพิ่มชื่อเพื่อนหรือชื่อสมาชิกในครอบครัวลงในบัญชีผู้ใช้งานของตนได้ หากทีมความปลอดภัยของโบลท์ไม่สามารถติดต่อเจ้าของบัญชีได้โดยตรงในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เมื่อระบบตรวจพบความผิดปกติช่วงเดินทาง หรือมีคำขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ติดต่อที่แจ้งไว้

2.รหัสรับผู้โดยสาร 4 หลัก (Four-Digit Pick-Up Codes) ประกอบด้วย รหัสยืนยันที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้ผู้โดยสารและคนขับยืนยันว่า กำลังพบกับบุคคลที่ถูกต้องตรงตามข้อมูลที่แสดงไว้ก่อนเริ่มเดินทาง เพื่อป้องกันการขึ้นรถผิดคัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความแออัดในช่วงกลางคืน หรือกรณีที่ผู้โดยสารจดจำยานพาหนะไม่ได้

เมื่อผู้โดยสารเปิดใช้ฟีเจอร์ผ่านการตั้งค่าความปลอดภัย รหัสแบบสุ่มทั้ง 4 หลักจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอ จากนั้นผู้ขับขี่จะได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งคนขับต้องกรอกรหัสรับผู้โดยสาร เพื่อให้มั่นใจว่าการจับคู่เป็นไปอย่างถูกต้อง

“ณัฐดนย์ สุขศิริฐานันท์” ผู้จัดการทั่วไปประจำโบลท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ฟีเจอร์ใหม่สะท้อนความมุ่งมั่นของโบลท์ ซึ่งเป็นการลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านยูโร (3.7 พันล้านบาท) ในการพัฒนาฟีเจอร์และบริการ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทั้งแพลตฟอร์มใน 3 ปีต่อจากนี้

“ฟีเจอร์ใหม่จะช่วยให้โบลท์ขยายฐานไปยังกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ได้มากขึ้น เพราะเริ่มเห็นการใช้งานจากกลุ่มนี้ มีทั้งกลุ่มที่ใช้เอง หรือลูกหลาน Gen Y/Z เรียกให้”

โบลท์มีฐานผู้ใช้ทั่วโลก 200 ล้านคน ให้บริการกว่า 600 เมือง 50 ประเทศ ไทยเป็นประเทศแรกที่โบลท์เข้ามาทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันให้บริการ 35 จังหวัด เน้นภาคกลางเป็นหลัก 3 ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้ในไทยเพิ่มขึ้น 13 เท่า จุดแข็งคือราคาที่ตอบโจทย์คนไทยได้ แม้ราคาจะถูกแต่ก็ต้องหาจุดตรงกลางที่เหมาะสมกับการสร้างรายได้ให้คนขับ ปัจจุบันโบลท์เก็บค่าคอมมิชชั่น 18% น้อยกว่าผู้เล่นบางรายแอปเรียกรถ

inDrive ลุยบริการสินเชื่อ

“อินไดรฟ์” (inDrive) แพลตฟอร์มที่ก่อตั้งในเมืองยาคุสต์ ประเทศรัสเซีย เริ่มให้บริการในไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ชูจุดเด่นเรื่องความโปร่งใสของราคาและบริการ เน้นหัวเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพัทยา ปัจจุบันเก็บค่าคอมมิชชั่นจากคนขับ 10%

“เอลิน่า ซาโวโรคิน่า” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจและผลิตภัณฑ์ inDrive กล่าวว่า inDrive เป็นที่รู้จักจาก Bidding Model หรือฟีเจอร์ต่อรองราคาระหว่างผู้ใช้กับคนขับ ช่วยแก้ปัญหาการโก่งราคา แต่ในไทยยังไม่สามารถให้บริการแบบ Bidding Model ได้ เพราะขัดกับข้อบังคับกรมการขนส่งทางบก

ปัจจุบัน inDrive ได้ขยายบริการ 48 ประเทศทั่วโลก โดย 3 ตลาดใหญ่สุด คือ เม็กซิโก คาซัคสถาน และเปรู หรือโคลอมเบีย เพราะมีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ รวมถึงค่าบริการของคู่แข่ง เช่น Uber หรือ Didi ยังสูงมาก โมเดลที่ให้ผู้ใช้เลือกตั้งราคาด้วยตนเองจึงได้รับความนิยม

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้บริการแล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เมื่อ 2 เดือนก่อนเริ่มทดลองให้บริการ inDrive.Money ในอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยให้บริการในเม็กซิโก เปรู และโคลอมเบียมาแล้ว

“inDrive.Money เป็นบริการสินเชื่อที่ให้คนขับเข้าถึงเงินกู้ขนาดเล็กสำหรับซ่อมรถ หรือใช้จ่ายเรื่องอื่น ๆ ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นประเทศแซนด์บอกซ์สำหรับทดสอบบริการนี้ สำหรับประเทศไทยทางอินไดรฟ์ก็ต้องการขยายบริการ แต่ต้องศึกษาข้อบังคับของผู้กำกับดูแล และหาพาร์ตเนอร์ก่อน”

ดันตลาดเช่า-กู้ รถ EV โตตาม

อุตสาหกรรมเรียกรถกำลังเป็นปัจจัยหนุนทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ จาก Economic Report ของ “โบลท์” คาดการณ์ว่า แอปเรียกรถจะสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ 55,000 ล้านบาทต่อปี สอดคล้องกับภาพรวมตลาดที่ผู้ให้บริการหลายรายจะจับมือกับพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรม EV เพื่อพัฒนาโปรแกรม “เช่า-สินเชื่อ” ให้คนขับมีรถประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น

เช่น SLEEK EV x Bolt โครงการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า คนขับโบลท์จะได้ดอกเบี้ยพิเศษ 0.99% ผ่อนสูงสุด 48 งวด และสิทธิพิเศษอื่น ๆ

ส่วนแกร็บมี “Grab EV” ให้คนขับเช่ารถ EV รับ-ส่งผู้โดยสาร หลังดำเนินโครงการมา 3 ปี ก็มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว 10,000 คัน

ซึ่งร่วมกับพันธมิตร 5 ราย คือ บมจ.ซัสโก้, บริษัท ไบโอ แลป ซัพพลาย จำกัด (Whale EV), บริษัท เอจีอี อีวี พลัส จำกัด, บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท สปาร์ค อีวี (Spark EV) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนขับ

นอกจากนี้ แกร็บยังมีโปรแกรมที่เปิดให้คนขับเป็นเจ้าของ EV ได้ง่ายขึ้น เช่น โปรแกรม “ผ่อนขับรับรถ” ที่จะอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการ และให้เช่าซื้อ BYD Seal รุ่น Dynamic รุ่น Premium และรุ่น AWD Performance ผ่อนจ่ายรายวัน เริ่มต้นที่ 1,010 บาท (หักจากการให้บริการในแต่ละวัน สัญญา 5 ปี ไม่ต้องดาวน์)

อ่านข่าวต้นฉบับ: ‘แอปเรียกรถ’ 4.5 หมื่นล้าน แข่งบริการเดือด-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่