‘Bite Size Content’ บูม ‘ละครสั้น’ น่านน้ำใหม่ธุรกิจสตรีมมิ่ง

‘Bite Size Content’ บูม ‘ละครสั้น’ น่านน้ำใหม่ธุรกิจสตรีมมิ่ง


thai drame

การเข้ามาของเทรนด์วิดีโอสั้นแนวตั้ง ไม่ได้แค่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ชื่นชอบ “Bite Size Content” หรือคอนเทนต์ขนาดกะทัดรัดมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังแจ้งเกิดการทำคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ เช่น “ละครคุณธรรม” ที่ใช้องค์ประกอบและตัวละครในการถ่ายทำไม่เยอะ แต่เป็นไวรัลได้ด้วย มุข และการ “หักมุม” ตอนท้าย

รวมไปถึงละครสั้นประเภท “ไมโครดราม่า” (Micro Drama) ความยาวตอนละไม่กี่นาที ที่มีพลอตเรื่องหลากหลาย ดำเนินเรื่องได้อย่างเข้มข้น ไม่ต่างจากละครยาวแบบดั้งเดิม ก็มีฐานคนดูเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีภาพจำที่ชัดเจนว่าประเทศ “จีน” คือผู้เล่นรายใหญ่ที่ส่งออกคอนเทนต์ประเภทนี้ไปทั่วโลก

คอนเทนต์ “ละครสั้น” บูม

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า การผลิตละครสั้นของจีนเริ่มต้นในปี 2018 หลังจากแอปพลิเคชั่น “ติ๊กต๊อก” (TikTok) เปิดตัวได้ไม่นาน โดยมีผู้เล่นหลักคือ “Kuaishou” แอปโซเชียลยอดนิยมในจีน และ “เทนเซ็นต์” (Tencent) บิ๊กเทคที่มีความเชี่ยวชาญในสายธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์อยู่แล้ว

ด้วยความที่โครงสร้างของละครสั้นถูกออกแบบให้มีเนื้อหาช่วง “ไคลแมกซ์” หลาย ๆ ช่วงในวิดีโอเดียว จึงสามารถดึงดูดให้ผู้ชมรับชมต่อได้เรื่อย ๆ ไม่ตัดสินใจหยุดดูกลางคัน และพร้อมจ่ายเงินเพื่อปลดล็อกตอนต่อไป ซึ่งประเภทเนื้อหาที่ได้รับความนิยมมาก ๆ คือแนวโรแมนติกและการเดินทางข้ามเวลา

จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนกว่าครึ่งหนึ่งกำลังรับชมละครสั้น และมากกว่า 1 ใน 3 เป็นผู้ที่ดูละครสั้นทุกวัน อีกทั้งการผลิตละครสั้นแต่ละเรื่องที่ง่ายกว่าการผลิตละครยาวแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ต่ำกว่า หรือใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่า ก็ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตละครสั้นได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ เฉลี่ยแต่ละปีที่ 5,000-8,000 เรื่องเลยทีเดียว

ตลาดจีนโตติดลมบน

ปัจจัยจากความต้องการของผู้บริโภค และปริมาณคอนเทนต์ที่มีให้เลือกสรรในตลาดเป็นจำนวนมาก ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้มูลค่าตลาดละครสั้นจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัยตลาดของจีน iResearch คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือประมาณ 100,000 ล้านหยวน (4.63 แสนล้านบาท) ระหว่างปี 2024 ถึง 2028

ในแง่ของการแข่งขันมีทั้งผู้เล่นหน้าเก่าที่อยู่ในสายธุรกิจคอนเทนต์อยู่แล้ว และผู้เล่นหน้าใหม่ ขยับมาช่วงชิงโอกาสในตลาดละครสั้นเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มละครสั้นอยู่มากมาย เช่น ReelShort, DramaBox, ShortMax และ StardustTV เป็นต้น

ที่สำคัญคอนเทนต์ละครสั้นไม่ได้มีแค่เรื่องที่ผลิตโดยใช้นักแสดงชาวจีนเท่านั้น แต่ยังมีละครสั้นที่ผลิตโดยใช้นักแสดงจากตะวันตก และได้รับความนิยมหลายเรื่อง เช่น The Double Life of My Billionaire Husband ที่แต่ละตอนใช้เวลาถ่ายทอดเรื่องราวเพียง 100 วินาที เป็นต้น

ไทยไม่ตกเทรนด์

หากเจาะมาที่ประเทศไทยจะพบว่าเทรนด์ละครยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหลายรายเพิ่มฟีเจอร์การรับชมละครสั้น และทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น ถือเป็นมูฟเมนต์ของธุรกิจคอนเทนต์ที่น่าจับตาไม่น้อย เช่น ธัญวลัย (Tunwalai) แพลตฟอร์มการอ่านในเครือของอุ๊คบี (Ookbee), ทรูไอดี (TrueID) ที่เปิดตัว “TrueID Shorts” แพ็กเกจรวมคอนเทนต์ละครสั้นราคา 379 บาท/ต่อเดือน และ WeTV แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในเครือเทนเซ็นต์

“ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น” ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย กล่าวว่า WeTV เริ่มทำตลาดเกี่ยวกับคอนเทนต์ละครสั้นในไทยอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 2024 ที่ผ่านมา ได้รับกระแสตอบรับในหมู่ผู้ใช้อย่างดี เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ดูจบแล้ว ซึ่งคอนเทนต์ละครสั้นทั้งหมดที่อยู่บน WeTV มาจากถังของ Tencent Video

“ไทยมีศักยภาพในการผลิตละครสั้นเหมือนกัน เคยเทสต์ทำเป็นคอนเทนต์ออริจินัลของไทยไปแล้ว 2-3 เรื่อง ต้องรอดูกระแสตอบรับอีกที กลยุทธ์เกี่ยวกับคอนเทนต์สั้นจะปรับไปตามความสนใจของผู้ใช้ เพราะมีเทรนด์ มินิซีรีส์แนวนอน ความยาวตอนละ 10-20 นาที ที่ผู้ใช้ชาวไทยให้ความสนใจไม่แพ้กัน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง